13 ปี มาตรฐานการศึกษาปฐมวัย...สถานการณ์ยังวิกฤติ



#showpic

13ปี มาตรฐานการศึกษาปฐมวัย เพิ่งเริ่มต้น...สถานการณ์ยังวิกฤติ

ในวันที่ 27 ก.พ.2561 นี้ สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ จัดงานเสวนา "13 ปี ของมาตรฐานการศึกษาชาติ: เด็กปฐมวัยในวันนั้นเท่ากับผู้ใหญ่ในวันนี้" ภายในงานมหกรรมสร้างเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว "กว่าทศวรรษ พัฒนาครอบครัวอบอุ่น สร้างคุณค่าคน คือผลงานของเรา"

โดย ดร.รุ่ง แก้วแดง อดีต รมช.ศึกษาการ ได้รับเชิญร่วมวงเสวนาครั้งนี้ได้สะท้อนความคิดเรื่องความสำคัญของการศึกษาปฐมวัย ที่ทำให้ย้อนคิดไปถึงการจัดการศึกษาปฐมวัยหรือการศึกษาอนุบาลในอดีต ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยในขณะนั้น เนื่องจากการจัดการศึกษาระดับอนุบาล มีเฉพาะในโรงเรียนเอกชน และโรงเรียนรัฐบาลจังหวัดละ 1แห่ง อีกทั้งจากแนวความคิดเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต ทำให้รัฐบาลหันมาทุ่มเทการศึกษาปฐมวัย ส่งผลให้มีรูปแบบการจัดที่หลากหลายการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ 1-4 ปี จึงขาดซึ่งระบบและมาตรฐานการศึกษา

 

ดร.รุ่ง กล่าวต่อว่า เมื่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ผ่านความเห็นชอบ จึงได้กำหนดมาตรฐานการศึกษาปฐมวัยขึ้น โดยหัวใจสำคัญด้านมาตรฐานของผู้เรียน เน้นให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ซึ่งในส่วนของปฐมวัยจะไม่เน้นเรื่องการเรียนหนังสือ แต่จะเน้นเรื่องพัฒนาการ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา และมาตรฐานของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม แม้จะมี พ.ร.บ.การศึกษาแล้ว ก็ยังมีปัญหาใหญ่ในเรื่องครูและผู้บริหารยังขาดความรู้ และความเข้าใจในการจัดการศึกษาปฐมวัยที่แท้จริง ส่วนหนึ่งเนื่องจากครูและผู้บริหารไม่ได้จบด้านการจัดการศึกษาปฐมวัย อีกทั้ง การที่รัฐธรรมนูญ กำหนดให้เด็กทุกคนต้องเข้ารับการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งมีข้อดีในแง่ของเด็กทุกคนได้เข้าเรียนในระบบ แต่ไม่ใช่เด็กเล็ก เพราะครูคนแรกที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่ หากเป็นไปได้เด็กต้องอยู่กับพ่อแม่เด็กจะได้เรียน ได้เล่น ได้พัฒนาการ สร้างความพร้อมของกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่

"หากถามว่ามาตรฐานการศึกษาปฐมวัย ที่ทำกันมา 13ปี สำเร็จหรือไม่ คำตอบคือ "เพิ่งจะเริ่มต้น" หากเปรียบเทียบกับการศึกษาระดับประถม มัธยม ซึ่งทำมากว่า 100 ปีแล้ว การจัดการศึกษาปฐมวัยขณะนี้ค่อนข้างวิกฤตพอสมควร สถานการณ์ของประเทศไทยอยู่ในช่วงเด็กเกิดน้อย สถานศึกษาคือโรงเลี้ยงเด็ก ให้เด็กมาอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ส่งผลกระทบในเรื่องความคิดเชิงสร้างสรรค์ของเด็กในอนาคต เพราะโรงเรียนทุกแห่งรับเด็กเข้าเรียนตั้งแต่อายุ 2ปีกว่า เพื่อความอยู่รอดของโรงเรียน อยู่ในภาวะเลี้ยงต้อยหวังค่าหัวเมื่อเด็กเข้าอนุบาล ไม่มีใครให้ความสำคัญในเรื่องมาตรฐานที่เกี่ยวกับการพัฒนา ซึ่งเราควรต้องมีสถาบันวิจัยที่เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กอย่างเป็นเรื่องราว โดยต้องเป็นสถาบันระดับชาติ เพราะเด็กวันนี้คือวัยที่วางรากฐานสำคัญของประเทศ ถ้าตั้งต้นไม่ดีเด็กมีเจตคติต่อการศึกษาและการเรียนรู้ไม่ดีก็จะติดไปตลอดชีวิต โดยคนที่สำคัญที่สุดคือพ่อแม่นี่คือโจทย์ใหญ่" ดร.รุ่ง กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับการเสวนา"13 ปี ของมาตรฐานการศึกษาชาติ: เด็กปฐมวัยในวันนั้นเท่ากับผู้ใหญ่ในวันนี้" ยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาปฐมวัย โดยเฉพาะองค์กร หน่วยงาน นักวิชาการระดับนโยบาย มาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนา ในวันที่ 27ก.พ.2561 ที่อาคารอิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สยามรัฐออนไลน์ 21 กุมภาพันธ์ 2561

 

โพสต์เมื่อ 23 ก.พ. 2561 อ่าน 12157 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1085]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5648]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2430]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)