จัดอันดับคุณภาพการศึกษาจังหวัด



#showpic

สกศ.ลุยประเมินผลการจัดการศึกษารายจังหวัด ประเดิมใช้ 11 ตัวชี้วัด 2ด้าน จากทั้งหมด 53 ตัวชี้วัด 5 ด้าน เดือนกุมภาพันธ์นี้ รู้ผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาจังหวัดรอบแรก

วันนี้ (8 ม.ค.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาในระยะ 20 ปี ไว้ 5 ด้าน 53 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา, ความเท่าเทียมการศึกษา, คุณภาพการศึกษา,ประสิทธิภาพ และการตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลงนั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จะติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษารายจังหวัด โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นต้น เพื่อทราบถึงความก้าวหน้าและพัฒนาด้านการศึกษาไทยรายจังหวัด ในแต่ละตัวชี้วัด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาของชาติ และเตรียมพร้อมนำการศึกษาของไทยสู่ยุค 4.0

เลขาธิการ สกศ.กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ข้อมูลที่นำมาศึกษาวิเคราะห์ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องมาจากความหลากหลายของแหล่งข้อมูล วิธีการและรูปแบบในการจัดเก็บ ดังนั้นเพื่อให้ข้อมูลที่มีความถูกต้องและชัดเจนมากที่สุด ระยะแรก สกศ.จะดำเนินการประเมินผลและติดตามตัวชี้วัด ระหว่างปี 2558 และ 2559 ของทุกสังกัด จำนวน 2 ด้าน รวม 11 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย 1.ด้านการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป, อัตราการเข้าเรียนระดับประถมศึกษา, อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ อัตราการเข้าเรียกระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา และ 2. ด้านคุณภาพการศึกษา 7 ตัวชี้วัด ได้แก่ คะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ หรือ โอเน็ต ของนักเรียน ชั้น ป.6 ชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย , ร้อยละของเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ปีมีพัฒนาการสมวัย ร้อยละการอ่านของคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาหรือไอคิว ของเด็กนักเรียนชั้น ป.1 และ ร้อยละของสถานศึกษาที่มีคุณภาพตามเกณฑ์ประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งนี้ คาดว่าจะรายงานผลข้อมูลครั้งแรกได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561

“รายงานผลการวิเคราะห์ จะบอกว่า แต่ละจังหวัดมีคุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับใด มีจุดเด่นในด้านใดเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ และมีจุดด้อยที่ต้องปรับปรุงพัฒนาในด้านใด เพื่อทุกจังหวัดจะได้นำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำคัญในการบูรณาการด้านการศึกษาของทุกสังกัดที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่มุ่งพัฒนาประเทศโดยยึดพื้นที่จังหวัดเป็นฐาน" เลขาธิการ สกศ.กล่าว.

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 8 มกราคม 2561 เวลา 13.10 น.

 

โพสต์เมื่อ 8 ม.ค. 2561 อ่าน 24965 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)