หมอจรัสชี้พื้นที่การศึกษาพิเศษทำได้จริง



#showpic

“หมอจรัส” ชี้การจัดตั้งพื้นที่การศึกษาพิเศษมีความเป็นไปได้ ยกตัวอย่างโรงเรียนเขตอีอีซีในระยองยังทำได้ ส่วนกฎเกณฑ์ต้องยกเลิกบางเรื่อง ศธ.สามารถออกประกาศได้ แต่ทั้งหมดยังคงต้องมีการหารือในรายละเอียด ชี้ปัญหาโอเน็ต สทศ.ต้องปรับแนวข้อสอบเป็นวัดสมรรถนะเด็ก แทนวัดความรู้จากเนื้อหา คาดต้องใช้เวลาพัฒนาเป็นปีๆ กว่าจะทำได้

ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มองว่าเรื่องการจัดตั้งพื้นที่การศึกษาพิเศษ จะต้องปฏิบัติได้และเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ปฏิบัติไปแล้วยิ่งสร้างปัญหา เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นผู้ดำเนินการนั้น

นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการอิสระฯ เห็นชอบในหลักการเท่านั้น ซึ่งคงต้องมีการหารือในส่วนของรายละเอียดอีกครั้ง เพราะในหลักการถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และการที่จะปรับโรงเรียนให้มีความอิสระด้านการบริหารงาน เป็นเรื่องที่เราจะต้องทำให้เกิด ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้หลายวิธี ที่จะนำไปสู่ความเป็นนิติบุคคลของโรงเรียน ส่วนกรณีการจัดตั้งพื้นที่การศึกษาพิเศษ เป็นลักษณะการรวมโรงเรียนให้เป็นเขตพื้นที่การศึกษาพิเศษ และให้มีการยกเว้นหลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง แต่คงต้องมาหารือเรื่องการยกเว้นหลักเกณฑ์ต่างๆ ด้วยว่าจะทำได้แค่ไหน ทำได้หรือไม่ อย่างไร สำหรับที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างที่สามารถทำได้ เช่น โครงการโรงเรียนประชารัฐ โครงการ Public School เป็นต้น ดังนั้นตนคิดว่าหากมีการหารือในละเอียด ก็อาจจะทำให้รู้ถึงแนวทางที่จะไปดำเนินการ และหากจำเป็นที่จะต้องมีการออกกฎหมาย เพื่อรองรับหรืออาจจะใช้แค่การออกเป็นกฎกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ก็น่าจะได้ อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าคงจะต้องมีการกำหนดกลุ่มโรงเรียนในลักษณะนี้ไว้ในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงเรียนนิติบุคคล พ.ศ....ด้วย

“ผมคิดง่ายๆ ว่าหากเขตพื้นที่การศึกษาพิเศษเท่ากับ 1 อำเภอ และบริหารจัดการทุกโรงเรียนในอำเภอนั้น ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เช่น อำเภอในจังหวัดระยอง ก็มีการยกระดับโรงเรียนในอำเภอนั้นให้สามารถเตรียมความพร้อมคนเข้าสู่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นต้น” ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มีการท้วงติงมาว่า หากมีระบบการประเมินในรูปแบบพิเศษ โรงเรียนอาจจะเลือกไม่เข้าการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ตได้ และเมื่อเด็กจะเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นอื่น อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหา นพ.จรัส กล่าวว่า หากเป็นในลักษณะดังกล่าว แน่นอนว่าจะต้องเกิดปัญหาแน่ แต่ว่าเมื่อไรถึงจะมีการเปลี่ยนการสอบโอเน็ต ที่วัดเนื้อหาสาระ มาเป็นการวัดสมรรถนะ ซึ่งหากเปลี่ยนตรงนี้ได้ ทั้งหลักสูตรและการประเมินที่เน้นสมรรถนะ ตนคิดว่ามหาวิทยาลัยก็คงต้องการคนที่มีสมรรถนะ อย่างไรก็ตาม ปัญหาในปัจจุบันของการสอบโอเน็ตคือเน้นในเรื่องเนื้อหาสาระทั้งหมด เพราะมีผู้สอบจำนวนมาก และจะต้องตรวจข้อสอบโดยใช้เวลาเพียง 1-2 เดือน เนื่องจากต้องใช้ผลคะแนนยื่นในการศึกษาต่อ ดังนั้นข้อสอบจึงต้องออกมาในรูปแบบปรนัย ซึ่งการที่เราจะพัฒนาข้อสอบที่วัดสมรรถนะและสามารถใช้วิธีการตรวจ โดยดิจิทัลได้นั้น ต้องใช้เวลาไม่สามารถทำได้ในปีสองปีนี้ แต่เราจะต้องพัฒนาไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้.

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 8 มกราคม 2561

 

โพสต์เมื่อ 8 ม.ค. 2561 อ่าน 5541 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)