ศธ.เพิ่มอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้รร. สั่งยกเลิก MOE Net



#showpic

“หมอธี”ประชุมทางไกลผอ.สพท.ทั่วประเทศ ปรับโครงสร้าง UniNetความเร็วสูง เพิ่ม 20,000 โรง ยกเลิก MOE Net ย้ำไม่บังคับโรงเรียนต้องใช้สัญญาณUniNet ให้โรงเรียนตัดสินใจเลือกใช้เอง

วันนี้( 29 ธ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ. ) กระทรวงศึกษาธิการ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยศ.นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และผู้บริหาร สพฐ. ได้ประชุมทางไกล กับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทั่วประเทศ หัวข้อ “ ศธ.มอบของขวัญนักเรียนไทย ปีใหม่ 2561” พร้อมมอบนโยบายการปฏิบัติงานในปี 2561 โดยนพ.ธีระเกียรติ ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ว่า การประชุมครั้งนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดี ทุกคนมีความพึงพอใจ เพราะได้สอบถามในสิ่งที่สงสัยและกังวล โดยเฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งดร.บุญรักษ์ ก็ยืนยันกับทุกโรงเรียนไปแล้วว่า สามารถเบิกจ่ายได้ ไม่มีปัญหา จึงเป็นบทสรุปและจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทุกฝ่ายจะได้ร่วมกันเปลี่ยนแปลงระบบเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เด็กและครูได้ใช้งานจริง ขณะเดียวกันตอบสนองต่อการเรียนรู้และตอบสนองนโยบายไทยแลนด์ 4.0

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ศธ.มีนโยบายสำคัญจะปรับปรุงระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ทุกโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ สามารถใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ในการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชน เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กยุคยุคดิจิตอลที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีในการเรียนรู้อย่างมาก โดยตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไปจะเริ่มวางโครงสร้างเครือข่าย UniNet เพิ่มเติมอีก 20,000 โรงเรียน นอกเหนือจากที่ให้บริการแก่โรงเรียน สพฐ.แล้วกว่า 10,000 โรงเรียนแล้ว พร้อมยกเลิกเครือข่าย MOE Net ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และจากการรายงาน 1 ใน 3 ของโรงเรียนที่ใช้ MOENet ก็ได้รับสัญญาณไม่เต็มที่ ทำให้ใช้งานไม่ได้ รวมทั้งเด็กก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ เพราะส่วนใหญ่ใช้เพื่องานบริหาร ไม่ใช่เพื่อตัวเด็กอย่างแท้จริง

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนงบประมาณของ MOENet ที่ตั้งไว้แล้วในปี 2561 นั้น จะปรับนำไปใช้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานเครือข่าย UniNet เพื่อให้ครอบคลุมทั้ง 30,000 โรงเรียนภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยจะนำเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) คาดว่าการขยายดังกล่าวจะต้องดำเนินการเป็นระยะ เพราะโรงเรียนมีความแตกต่างกันอยากหลากหลาย โดยเฉพาะโรงเรียนใหญ่อาจต้องวางโครงสร้างใหม่ หรือบางโรงเรียนแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่ยังไม่สามารถใช้สัญญาณ UniNet ได้เต็มศักยภาพ ทั้งนี้ ไม่ได้บังคับให้ทุกโรงเรียนต้องใช้สัญญาณ UniNet หากไม่สามารถรับสัญญาณได้ สามารถเลือกใช้บริการเครือข่ายเอกชนที่เหมาะสมกับพื้นที่ได้

“ต้องยอมรับว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มีสาเหตุมาจากการบริหารงานแบบรวมศูนย์ คือระดับนโยบายหรือข้างบนเป็นผู้คิดแทนโรงเรียน 30,000 แห่งทั่วประเทศ ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะโรงเรียนของ สพฐ.ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายโรงเรียนละกว่า 5,000 บาทต่อเดือน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกว่า 4 แสนบาทต่อเดือน ดังนั้น ผู้บริหารศธ.จึงมีแนวคิดใหม่ ๆ ด้านการศึกษา โดยจะใช้ภาษาเท่ ๆ ว่า “Decentralized” หรือการกระจายอำนาจไปให้โรงเรียนเป็นคนตัดสินใจ เพื่อเปิดโอกาสให้ข้างล่างจัดการกันเอง ทั้งจัดการเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการที่มีศักยภาพเหมาะสมสูงสุดในพื้นที่นั้น ๆ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และจัดการระบบรองรับสัญญาณภายในโรงเรียน โดยมีทีมที่จะลงไปดูแลเรื่องเทคนิค จากทั้ง สอศ. มหาวิทยาลัย และเครือข่ายในพื้นที่ ที่จะส่งผลเด็กได้ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทันสมัย และทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงไป”นพ.ธีระเกียรติกล่าว


ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 29 ธันวาคม 2560 เวลา 16.01 น.

 

โพสต์เมื่อ 30 ธ.ค. 2560 อ่าน 10439 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)