“จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง” ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำปี 2560 เข้าใจเด็กและหัวใจของวิชา ใช้ “ไอซีที” พิชิตการเรียนรู้ไทยแลนด์ 4.0



“จิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง” ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีประจำปี 2560
เข้าใจเด็กและหัวใจของวิชา ใช้ “ไอซีที” พิชิตการเรียนรู้ไทยแลนด์ 4.0

“วันนี้ครูต้องสร้างและพัฒนานวัตกรรมด้วยตัวของคุณครูเอง ครูจะต้องเข้าใจหัวใจของหลักสูตร เข้าใจตัวของลูกศิษย์ และปรับทุกๆ อย่างให้สอดคล้องกับเด็กด้วยหลักหรือหัวใจของวิชานั้นๆ ครูต้องสอนให้รู้จักที่จะหาวิชาความรู้ที่คงทนติดตัว แล้วต้องเอาไปใช้ได้ในชีวิตจริง”

เป็นมุมมองต่อจัดการศึกษาไทยในยุคไทยแลนด์ 4.0 ของ “นายจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง” ครูผู้ไม่หยุดนิ่งในการเรียนรู้ ที่ผันตัวจากครูพละมาเป็นผู้บุกเบิกการจัดการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์และไอซีทีคนแรกๆ ของเมืองไทยจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จังหวัดนนทบุรี ผู้ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้ได้รับรางวัล สมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประเทศไทย ปี 2560 จาก มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี

“วันนี้ถ้าเราอยากให้เด็กไทยก้าวเดินไปข้างหน้า เรื่องเทคโนโลยีต้องมาก่อน มีคำกล่าวหนึ่งของท่านดำรง ลัทธพิพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ใดครองเทคโนโลยี ผู้นั้นครองเศรษฐกิจ ผู้ใดครองเศรษฐกิจ ผู้นั้นครองอำนาจ ดังนั้นถ้าหากเราไม่รู้เทคโนโลยีก็จะตามหลังคนอื่นไปตลอด” ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี คนที่ 2 ของประเทศไทยระบุ

ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ที่เป็น “ครูอาชีพ” นั้น “ครูจิรัฏฐ์” บอกว่าจะต้อง “เข้าใจหัวใจของวิชาที่สอน” ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็ตามแต่ ครูแค่ต้องเอาหัวใจของมันมาว่าวิชานั้นเขาอยากจะให้เด็กรู้อะไร

“วิทยาศาสตร์ต้องการให้เด็กรู้อะไร คณิตศาสตร์อยากให้เด็กรู้อะไร อย่างผมสอนซอฟท์บอล เป้าหมายคืออยากจะให้เด็กเล่นกีฬาและออกกำลังกาย ลูก softball มันเล็กนิดเดียว โยนไปแล้วให้คนตี ตีเท่าไหร่ก็ไม่โดนสักที ชั่วโมงนั้นลูกวอลเลย์บอลมาแทน โยนวอลเลย์บอลแล้วหวด มันตีแล้วมันได้วิ่ง เพราะฉะนั้นหัวใจมันก็อยู่ตรงที่เด็กได้ออกกำลังไง เอาหัวใจมันเป็นหลัก เราอยากจะให้เด็กเรียนรู้อะไร แล้วได้อะไร แล้วจะเอาไปใช้ได้อย่างไร ไม่ต้องไปสนใจทฤษฎีเยอะ” ครูเจ้าฟ้าคนที่ 2 ระบุ

“สิ่งสำคัญของการสอนคือการเริ่มต้นของชั่วโมงเรียน ถ้าครูดุเด็กตั้งแต่ต้นชั่วโมงเนี่ย บรรยากาศในการเรียนรู้ก็จะหมดไปล่ะ การสอนคุณครูจะต้องสร้างบรรยากาศที่สุนทรียะ แล้วต้องเข้าใจเด็ก เราต้องหาสิ่งที่ถนัดของเขาให้เจอ แล้วพาเขาไปในสิ่งที่เขาถนัด อย่าลืมว่าเป้าหมายในการเรียนคืออะไร ให้เขามีอาชีพไม่ใช่หรือ เพราะฉะนั้นจะทำอะไรก็ตาม จะสอนอะไรก็ตาม เข้าใจถึงหัวใจของสิ่งที่เรากำลังทำพอแล้ว จะสอนพละ หัวใจของพละคืออะไร ตอนนี้เรากำลังจัดการศึกษา ซึ่งหัวใจในการจัดการศึกษาคือเด็กทุกคนไปเรียนต่อแล้วมีงานทำ ถึงไม่เรียนต่อแต่ถ้าจบแล้วต้องมีงานทำ” ครูจิรัฏฐ์ แจ่มสว่าง กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล ที่ขับเคลื่อนและดำเนินงานโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี,สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน โดยจัดให้มีการมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยจะพระราชทานรางวัลในวันที่ 11 ตุลาคม 2560.
 

 

โพสต์เมื่อ 27 มิ.ย. 2560 อ่าน 24806 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานราชการทั่วไป ตำแหน่งครูผู้สอน จำนวน 3 อัตรา [อ่าน 528]
"สหพัฒน์แอดมิชชั่น" ครั้งที่ 27 พร้อมแล้ว "ติวสด" 12 วิชา 6 วันติด 7-12 ตค. นี้ ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ [อ่าน 225]
สพป.สกลนคร เขต 1 ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาพนักงานราชการ ตำแหน่งครูผู้สอน 1 อัตรา 1 วิชาเอก [อ่าน 1188]
หลักสูตรท้องถิ่น กับการปฏิรูปการศึกษาไทย แนวทางกระจายอำนาจให้โรงเรียนได้ออกแบบ และมีส่วนร่วม [อ่าน 243]
สพฐ. จับมือ EduPLOYS ลงนาม MOU หนุนจัดแข่งขัน บอร์ดเกมเพื่อการศึกษา ส่งเสริมกีฬาทางปัญญา [อ่าน 597]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)