ก.ค.ศ.ไฟเขียวอำนาจศึกษาธิการจังหวัด



#showpic

เห็นชอบเกลี่ยอัตรากำลังแบ่ง 4 ขนาด ผุดรอง ศธจ.พร้อมเกณฑ์สรรหา

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการบริหารงานบุคคลและบุคลากรทางการศึกษา โดยเห็นชอบอำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติมตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19/2560 และมอบให้สำนักงาน ก.ค.ศ.ไปจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมกันนี้ได้เห็นชอบกำหนดกรอบอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด แบ่งออกเป็น 4 ขนาด ได้แก่ ขนาดใหญ่พิเศษ จำนวน 21 อำเภอขึ้นไป ขนาดใหญ่ 16-20 อำเภอ ขนาดกลาง 9-15 อำเภอ และขนาดเล็ก 8 อำเภอลงมา โดยระยะแรกให้เกลี่ยอัตรากำลังจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ที่เป็นตำแหน่งว่าง จำนวน 958 ตำแหน่งและตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา 38 ค.(2) ซึ่งมีอัตราตามกรอบอัตรากำลังที่ ก.ค.ศ. กำหนดไม่เกินร้อยละ 25 ของตำแหน่งทั้งหมด ทั้งนี้ การเกลี่ยอัตรากำลังให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่บังคับกีดกันและไม่ทำให้ราชการเสียหายทั้งต้นทางและปลายทาง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังอนุมัติให้กำหนดตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด เป็นตำแหน่งประเภทอำนวยการเฉพาะด้านการ บริหารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระดับต้น ในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดแต่ละจังหวัดและกรุงเทพมหานคร และเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งรองศึกษาธิการจังหวัด สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีสาระสำคัญดังนี้ คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหา เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ดังนี้ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด/กรุงเทพมหานคร และรองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัด

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีการสรรหาจะประเมินความรู้ความสามารถในตำแหน่ง 100 คะแนน ความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ 50 คะแนน โดยประเมินตามรูปแบบและวิธีการที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกำหนด และความเหมาะสมกับตำแหน่ง 50 คะแนน แบ่งเป็นวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด 20 คะแนน และสัมภาษณ์ 30 คะแนน ตามองค์ประกอบและตัวชี้วัดที่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการกำหนด ทั้งนี้ ผู้ผ่านการสรรหาต้องได้คะแนนในการประเมินความรู้ความสามารถในตำแหน่ง ความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่และความเหมาะสมกับตำแหน่ง ในแต่ละหัวข้อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และรวมทุกหัวข้อไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ผู้ได้รับการสรรหาจะได้รับการบรรจุและแต่งตั้งตามลำดับที่เป็นรายภาคตามจำนวน ตำแหน่งว่างที่ประกาศฯ โดยไม่มีการขึ้นบัญชี.

ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 22 เม.ย. 2560

 

โพสต์เมื่อ 24 เม.ย. 2560 อ่าน 28515 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1085]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5647]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2430]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)