สสส.จับมือม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดโมเดลระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ ชี้ “ทุกภาคส่วนร่วมจัดการศึกษา” ประหยัด คุ้มค่า ส่งผลต่อผู้เรียน



สสส.จับมือม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดโมเดลระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ ชี้ “ทุกภาคส่วนร่วมจัดการศึกษา” ประหยัด คุ้มค่า ส่งผลต่อผู้เรียน เปิดกรณีตัวอย่างเครือข่ายโรงเรียน 3 จังหวัดใต้ ดึงชุมชนมีส่วนร่วม แก้ปัญหาโรงเรียนถูกเผา ทิ้งร้าง เหตุชุมชนเป็นรั้วให้กับโรงเรียน

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดสัมมนาสรุปบทเรียนโครงการการจัดการการเรียนรู้แบบเครือข่ายโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน โดยนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า จากการศึกษาการสร้างระบบการศึกษาที่พาชาติออกจากวิกฤติ โดยรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และคณะ พบว่า ระบบการศึกษาที่เหมาะสมกับสังคมไทยคือทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ทั้งครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น สถาบันศาสนา ภาคเอกชน ภาครัฐ และองค์กรอื่นๆ เพื่อเติมเต็มการจัดการศึกษา แนวคิดดังกล่าวจึงสนับสนุนให้เกิดตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในรูปเครือข่าย 40 เครือข่าย โรงเรียน ศูนย์การเรียนและแหล่งเรียนรู้ จำนวน 211 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน น่าน นครสวรรค์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุทัยธานี ลำปาง มหาสารคาม สกลนคร อุดรธานี สิงห์บุรี สงขลา พัทลุง ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล

“ผลการทำงานในรูปแบบเครือข่ายการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาพบว่า ผู้เรียน 75% ได้รับการพัฒนาตามช่วงวัย จากการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติพบว่า ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น 5-19% เกิดหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของวิถีท้องถิ่น และชุมชนร่วมเป็นเจ้าของการจัดการศึกษา ซึ่งความสำเร็จในการทำงานคือ การที่กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชนและโรงเรียนมาร่วมกันออกแบบการทำงาน ทำให้เป็นกิจกรรมที่ยั่งยืนโดยมีเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นที่ตัวผู้เรียน”ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว กล่าว

ผศ.ดร.พิณสุดา สิริธรังศรี หัวหน้าโครงการการจัดการเรียนรู้แบบเครือข่ายเพื่อส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษาเป็นวิธีการที่ประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน โดยใช้หลัก 8 ด้านคือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมติดตามประเมินผลและร่วมชื่นชม โดยมีโจทย์ของการทำงานคือ ลดปัญหาทางโภชนาการ ยาเสพติด เหล้าบุหรี่ สุขภาพทางเพศ และคุณภาพการเรียนรู้ ผลจากการทำโครงการทำให้โรงเรียนไม่โดดเดี่ยว มีเพื่อนเดิน ได้นวัตกรรมเรียนรู้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตัวอย่างการทำงานที่เป็นรูปธรรม เช่น เครือข่ายโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จ.นครสวรรค์ ในการป้องกันปัญหาเรื่องเพศในวัยรุ่น โดยมีหลักสูตรอบรมวิถีเพศศึกษา คู่มือครู คู่มือผู้ปกครอง แกนนำนักเรียนสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาวะทางเพศ และแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน มีหลักสูตรการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์อาชีพและชุมชน เช่น คู่มือการเรียนรู้เรื่อง เพศศึกษาของเครือข่ายเกิ้งวิทยานุกุล จังหวัดมหาสารคาม คู่มือปฏิบัติของนักเรียนในการต่อต้านสิ่งเสพติด คู่มือผู้ปกครองจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมของเครือข่ายศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง คู่มือการพัฒนาตนเองห่างไกลยาเสพติดของเครือข่ายโรงเรียนบูเกะบากง จังหวัดนราธิวาส

“ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีฐานต่ำกว่าศูนย์จากเหตุการณ์ความไม่สงบ พบปัญหายาเสพติด ผู้ปกครองนิยมส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ทำให้โรงเรียนของรัฐเกิดสภาพทิ้งร้าง ผู้เรียนน้อย เมื่อนำโครงการที่เน้นการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายโรงเรียนและการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งผู้ปกครอง ชุมชน บ้าน วัด มัสยิด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล สำนักงานสาธารณะสุข ตำรวจ ทหาร องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด มหาวิทยาลัย เทศบาล ภูมิปัญญาท้องถิ่นและผู้นำทางศาสนา โดยมีการจัดตั้งนักเรียนแกนนำ ชุมชนแกนนำในการช่วยขยายผลการทำงานของโรงเรียนและชุมชน มีการดึงหน่วยงานภายนอกมาสอนอาชีพ และเน้นคุณภาพการสอนในโรงเรียนทำให้ชุมชนเห็นความสำคัญและส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนโรงเรียนของรัฐมากขึ้น”ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าว

ผศ.ดร.พิณสุดา กล่าวว่า ปัจจุบันทุกโรงเรียนในเครือข่ายจังหวัดชายแดนใต้มีผู้เรียนเข้ามาเรียนเพิ่มมากขึ้น เช่น ร.ร.สวนพระยาวิทยา ร.ร.บ้านลูโบ๊ะเยาะ ร.ร.บูเกะตา ร.ร.บ้านบูเกะบากง ร.ร.ผดุงมาตร ร.ร.บ้านป่าม่วง เป็นต้น เนื่องจากผู้ปกครองไว้ใจและเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของโรงเรียน และการที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมทำให้ผู้บริหารและครูต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ทุกโรงเรียนในเครือข่ายทุกเครือข่ายมีการเฝ้าระวังระหว่างบ้าน โรงเรียน ชุมชน วัด มัสยิด ช่วยให้นักเรียนปลอดสารเสพติด เหล้า บุหรี่ พื้นที่โดยรอบโรงเรียนมีความมั่นคงปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ทรัพย์สินของโรงเรียนไม่ถูกเผาทำลาย เนื่องจากผู้ปกครองและชุมชนเป็นรั้วและเกราะกำบังที่ดีให้แก่โรงเรียน และมีเครือข่ายโรงเรียนที่ขยายผลอีก 109 แห่ง

 

โพสต์เมื่อ 29 พ.ย. 2559 อ่าน 4804 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


รร.วัดถนนกะเพรา จ.ระยอง นำเปลือกหอยมาผสมซีเมนต์ทำกระถางต้นไม้ สร้างการเรียนรู้ต่อยอดถึงชุมชน [อ่าน 95]
สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาและเลือกสรรเป็นพนักงานราชการทั่วไป ตำแหน่งครูผู้สอน จำนวน 3 อัตรา [อ่าน 855]
"สหพัฒน์แอดมิชชั่น" ครั้งที่ 27 พร้อมแล้ว "ติวสด" 12 วิชา 6 วันติด 7-12 ตค. นี้ ทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ [อ่าน 408]
สพป.สกลนคร เขต 1 ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อสรรหาพนักงานราชการ ตำแหน่งครูผู้สอน 1 อัตรา 1 วิชาเอก [อ่าน 2480]
หลักสูตรท้องถิ่น กับการปฏิรูปการศึกษาไทย แนวทางกระจายอำนาจให้โรงเรียนได้ออกแบบ และมีส่วนร่วม [อ่าน 486]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)