สสค.-นักวิชาการ ชี้รัฐ (ต้อง) สร้าง “ห้องเรียน 4.0” คิดสร้างสรรค์ มีทักษะ ทำงานเป็นทีม ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รู้แยกแยะ –จี้รัฐยกเลิกโอเน็ต หากมุ่งเป้าพัฒนาปร



สสค.-นักวิชาการ ชี้รัฐ (ต้อง) สร้าง “ห้องเรียน 4.0” คิดสร้างสรรค์ มีทักษะ ทำงานเป็นทีม ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รู้แยกแยะ –จี้รัฐยกเลิกโอเน็ต หากมุ่งเป้าพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0
 
ดร. วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการ ผู้วิจัยและพัฒนา  Creativity-based Learning ให้สัมภาษณ์ถึแนวคิดการสร้าง ‘ห้องเรียน 4.0’ = ทาง(ต้อง)เลือกเพื่อเดินหน้าประเทศไทย เพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทย ให้สอดรับกับเป้าหมายของประเทศไทยในการเดินหน้าเข้าสู่ยุค Industry 4.0 และ Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ
 
ดร. วิริยะ กล่าวถึงแนวความคิดเกี่ยวกับห้องเรียน 4.0 ว่า ได้หารือกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ในฐานะเป็นหน่วยส่งเสริมและสนับสนุนกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป้าหมายในการปฏิรูปการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งเดิมได้กำหนดจัดจัดปาฐกถา เรื่อง “ห้องเรียน 4.0” = ทาง(ต้อง)เลือก เพื่อเดินหน้าประเทศไทย ในวันที่ 19 ตุลาคม 2559 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 21 แต่ได้ยกเลิกการจัดกิจกรรมดังกล่าวไป เพื่อแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดังนั้น เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาของประเทศ แนวความคิด “ห้องเรียน 4.0” คือห้องเรียนที่จะสร้างให้เด็กก้าวสู่ Thailand 4.0 โดยจะมุ่งให้เด็กและเยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในศตวรรษที่ 21 สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีม มีทักษะของการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน รู้จักแยกแยะข้อมูล ซึ่งห้องเรียนที่กล่าวมานี้ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน ถ้ายังสอนและวัดผลด้วยการให้นักเรียนท่องจำหรือลอกจากตำรา ฉะนั้น สิ่งที่ต้องการทั้งทักษะการคิด การเรียนรู้และทักษะการทำงาน จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าครูสอนแบบเดิม วัดผลเหมือนเดิม การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเหมือนเดิม ที่สำคัญควรยกเลิกการนำการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานคะแนน (O-NET) มาใช้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ไม่เช่นนั้นไทยแลนด์ 4.0 ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง 
 
ทั้งนี้ สอดคล้องกับผลการสำรวจความต้องการแรงงานของนายจ้างและองค์กรเกิดใหม่ในปี 2557 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่านายจ้างขององค์กรในศตวรรษที่ 21 คาดหวังให้พนักงานในองค์กรมีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มากที่สุด นอกจากนี้ ผลการสำรวจของ McKinsey พบว่าภาคธุรกิจกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนผู้ที่มีทักษะต่างๆ ในการทำงาน รวมทั้งเยาวชนถึงร้อยละ 79 มีความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกเตรียมความพร้อมในการทำงานภายหลังจบการศึกษา  
 
ดร. วิริยะ กล่าวต่อว่า ห้องเรียน 4.0 เริ่มสร้างได้ทันที่ที่พร้อม โดยเฉพาะประชาชนคือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องเป็นคนเริ่มก่อน ด้วยการสร้างแรงผลักดัน ฉายภาพชีวิตของลูกให้เห็นว่าเรียนรู้อะไร ฝึกอย่างไร จบมาจะเป็นอะไร ไม่ใช่เริ่มจากคำสั่ง อย่าให้โรงเรียนกลายเป็นที่ทำลายเด็กเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์กับชีวิตและสังคมของเด็กเลย ถือเป็นความหายนะที่ร้ายแรงที่สุด โดยเด็กและเยาวชนควรเติบโตในโลกยุคปัจจุบัน ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ทุกคนสามารถสื่อสารผ่านเทคโนโลยี โทรทัศน์ วิทยุ ถ่ายทอดสดได้ทุกที่ทุกเวลา สามารถทำมาหากิน เขียนโปรแกรมได้ตั้งแต่อายุยังน้อย มีแหล่งเรียนรู้มากมายทั่วโลก ทางเลือกนั้นมีหลากหลาย ขอแต่เด็กมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่ปัญหาอย่างเดียวคือระบบการการศึกษาได้สกัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไป 
 
“จึงอยากฝากคำถามดังๆ ไปทั่วประเทศ ตกลงเด็กเรียนเพื่อใคร เมื่อโรงเรียนไปตัดสินว่าเด็กโง่ โดยใช้ความจำ เนื้อหาที่ไม่เกี่ยวกับชีวิตเด็ก เอาเกรดมาตัดสิน ดังนั้น ถ้าจะวัดความสำเร็จของโรงเรียนต้องวัดว่า เด็กเรียนแล้วมีความสุข วันนี้เด็กยิ้มกี่ครั้ง หัวเราะกี่ครั้ง ได้กระโดด ได้วิ่งไหม อย่าวัดว่าเด็กจดจำอะไรได้เท่าไร พร้อมทั้งต้องเปลี่ยนการแข่งขันของโรงเรียนและเด็ก จากเดิมการได้ที่หนึ่งเกิดจากการแข่งขันชนะ แต่การได้ที่หนึ่งจากนี้และอนาคต ต้องวัดที่การแบ่งปันและสร้างสรรค์คนที่มีคุณงามความดีออกมา เพราะการศึกษาคือการพัฒนาคนให้มีคุณค่า วันนี้ การที่ยังเปลี่ยนห้องเรียนไม่ได้เพราะยังคงวัดผลโอเน็ต เด็กยังกวดวิชา ผู้ปกครองวัดความสำเร็จของลูกด้วยการสอบเข้ามหาลัยได้ จึงต่างคนต่างโทษกัน ผลร้ายปรากฏอยู่กับตัวเด็ก ซึ่งเด็กไม่รู้ว่าถ้าไม่ต้องแย่งกันสอบเข้าเด็กจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ง่ายกว่า”  ดร. วิริยะ กล่าว
 
ดร. วิริยะ กล่าวย้ำอีกว่า ถ้าจะทำห้องเรียน 4.0 หรือไทยแลนด์ 4.0 ต้องทำจากการเปลี่ยนห้องเรียน ให้สร้างคนที่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะต่อจากนี้ จะเป็นยุคของความรู้ (Knowledge) ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่รวดเร็วและสะดวกต่อการใช้งาน ซึ่งไม่มีใครได้เปรียบใคร เรื่องของความคิด โดยเฉพาะความคิดสร้างสรรค์เท่านั้นที่จะทำให้เกิดคุณค่าเพิ่มจากทรัพยากรเดิมที่มีอยู่ ฉะนั้น การเรียนการสอนต้องสร้างคนที่คิด ครูจะสอนอย่างไรให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญที่สุดถ้าคนมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว จะไม่มีคนตีกันด้วยความคิดเห็นที่แตกต่างกันแต่จะเป็นการทะเลาะ เถียงกัน เพื่อช่วยกันหาข้อแตกต่าง ไม่ใช่การหาพวกที่เห็นตรงกัน เนื่องจากความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องส่วนตัว ส่วนบุคคล เพราะเมื่อไรก็ตามที่คนมีความคิดสร้างสรรค์แล้ว บ้านเมืองก็จะน่าอยู่ การออกแบบองค์กร ความคิดของคนก็จะเปลี่ยนไป
 
 
 

 

โพสต์เมื่อ 1 พ.ย. 2559 อ่าน 37077 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 192]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1084]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5635]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2427]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)