สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ "กษัตริย์" นักการศึกษา พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน รายงานพิเศษ โดย ไทยรัฐ



#showpic

เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2559 ไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอรายงานพิเศษ เรื่อง สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ "กษัตริย์" นักการศึกษา พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน

“พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”

พระราชสมัญญา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่กระทรวงศึกษาธิการถวาย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554

เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาอย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งทรงมีพระปรีชาสามารถในสรรพวิทยาการด้านต่างๆ จนเป็นที่ประจักษ์แจ้งทั้งต่อพสกนิกรชาวไทยและในนานาอารยประเทศ ทรงประดิษฐ์คิดค้นพัฒนาองค์ความรู้ที่ทรงค้นพบหลากหลายสาขา จากนั้นทรงเผยแพร่ความรู้ให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า และแก่มวลมนุษยชาติในลักษณะของครูมหาชนและของมวลมนุษยชน

ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัย วิชาการศึกษา ประสานมิตร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2505

“...การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบใหญ่ขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูง และอบรมจิตใจให้พร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติสืบไป...”

พระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมานี้แสดงให้เห็นถึงพระราชดำริที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาและทรงสะท้อนเป็นพระราชกรณียกิจนานัปการก่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรผ่านโครงการน้อยใหญ่หลายพันโครงการเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความผาสุก

สิ่งที่พระองค์ทรงคิดและทรงปฏิบัติต่อพสกนิกร พระองค์จึงทรงเป็น “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” โดยแท้

“ข่าวการศึกษา” ขอน้อมนำพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดช ที่ทรงมีต่อการศึกษาไทย มาบันทึกไว้ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น

การศึกษาในระบบโรงเรียน

ใน พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วย ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล จึงมีพระราชดำริให้ทหารช่วยก่อสร้างโรงเรียน พระราชทานนามว่า “โรงเรียนร่มเกล้าฯ”

ขณะเดียวกัน ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สำหรับชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในดินแดนทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์” พระองค์ยังทรงเล็งเห็นถึงปัญหาของเยาวชนที่ครอบครัวประสบปัญหาเดือดร้อนจากสาธารณภัย ภัยธรรมชาติ จึงทรงพระเมตตารับอุปถัมภ์เยาวชนที่ขาดแคลน อันได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน

การศึกษานอกระบบโรงเรียน

สำหรับการศึกษาของประชาชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนที่อยู่ในชนบท ทรงริเริ่มตั้ง “ศาลารวมใจ” ตามหมู่บ้านชนบท เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่อ่านหนังสือ โดยพระราชทานหนังสือประเภทต่างๆ นอกจากนั้นมีพระราชดำริจัดทำโครงการพระดาบส หรือส่วนใหญ่เรียก “โรงเรียนพระดาบส” เมื่อ พ.ศ.2519 ให้ประชาชนที่มีใจรักวิชาการ ใฝ่หาความรู้ใส่ตนเองแต่ไม่สามารถหาที่เรียนได้เข้าเรียน ครูผู้สอนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาสาสมัคร โดยถือว่าการสอนวิชาความรู้ให้ศิษย์เป็นวิทยาทาน ไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

นอกเหนือจากโรงเรียนพระดาบสแล้ว พระองค์ยังมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้า ทดลองวิจัย และแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและให้ความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจทุกหมู่เหล่า ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีทั้งหมด 6 ศูนย์ คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับ โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ และให้ความอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำ ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนเป็นประจำ เช่น โรงเรียนจิตรลดา, โรงเรียนราชวินิต, โรงเรียนวังไกลกังวล, โรงเรียนราชประชาสมาสัย, โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย, โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท, โรงเรียนร่มเกล้า ฯลฯ

การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนครูในท้องที่ชนบทห่างไกลเป็นปัญหาของการศึกษาไทย ที่มีมาตรฐานคุณภาพของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน โรงเรียนเองก็ยังมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ การศึกษามีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบั่นทอนความเจริญทางจิตใจและการพัฒนาของทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต จึงทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 50 ล้านบาท ถวายเป็นทุนประเดิมก่อตั้งเป็นมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2538 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของชาติแผ่ขยายไปยังท้องถิ่นต่างๆ อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ และส่งเสริมการศึกษาทุกระดับมีมาตรฐานที่สูงขึ้น

ทุนพระราชทาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนไทยมิได้ขาดสติปัญญาที่จะเล่าเรียน แต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์ ทั้งทรงตระหนักถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จำเป็นต้องส่งคนไปศึกษาและดูงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งกองทุนการศึกษา 1.ทุนมูลนิธิ “ภูมิพล” 2.ทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล” 3.ทุนเล่าเรียนหลวง 4.ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราช-ประชานุเคราะห์ 5.ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย 6.ทุนนวฤกษ์ 7.ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี อาทิ ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา และรางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น

ข้าพระพุทธเจ้า ข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” และขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรับสนองพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ตลอดไป.

 

ขอบพระคุณที่มาจาก ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 17 ต.ค. 2559

 

โพสต์เมื่อ 18 ต.ค. 2559 อ่าน 8727 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1243]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)