โอกาสที่เสียไป : 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย



#showpic

สถาบันอนาคตไทยศึกษาเปิดผลการศึกษาชิ้นล่าสุดเรื่อง "โอกาสที่เสียไป : 12 ข้อเท็จจริงการศึกษาไทย" ชี้ปัญหาการศึกษาส่งผลต่อโอกาสของเด็กไทย และยังส่งผลต่ออัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทย ถึงปัจจุบัน ประเทศมีต้นทุนเสียโอกาสสะสมแล้ว 11% ของ GDP หรือคิดเป็น 1.5 ล้านล้าน

ปัญหาการศึกษา ไม่สร้างโอกาสให้เด็กไทย หากย้อนดูปัญหาการศึกษาจะพบว่ามีปัญหาตั้งแต่เด็กวัยก่อนเรียนไปจนถึงมหาวิทยาลัย เห็นได้จาก 1 ใน 5 ของเด็กก่อนวัยเรียนมีพัฒนาการที่ต่ำกว่าวัย เด็กชั้นประถมราว 140,000 คนอ่านหนังสือไม่ออก และราว 270,000 คนก็เขียนหนังสือไม่ได้ ส่วนเด็กมัธยมอีกกว่า 1 ใน 3 ก็ไม่สามารถอ่านจับใจความได้ และแม้ว่าตัวเลขจะบอกว่าโอกาสที่เด็กจะจบ ม.ปลาย มีไม่น้อย แต่การที่จะเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ได้ก็ต้องเข้ามาเรียนในกรุงเทพ จะเห็นได้จากโรงเรียนที่คะแนนโอเน็ตสูงสุด 50 โรงเรียน 34 โรงเรียนอยู่ในกรุงเทพ หากดูต่อไปเมื่อเรียนจบ แม้จะจบมหาวิทยาลัยได้ หางานได้ แต่งานที่ได้ก็ต่ำกว่าวุฒิที่จบมา เป็นเสมียนและพนักงานขายกว่า 40% ของเด็กจบใหม่ระดับปริญญาตรี ซึ่งเงินเดือนไม่สูงนัก

การที่เด็กไทยเสียโอกาสส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างไร แม้เราจะพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษามานาน แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่ได้เห็นผลสำเร็จดังที่หวังไว้ ซึ่งเราอาจไม่เห็นภาพของผลกระทบเท่าไรนัก ดังนั้นเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม สถาบันได้ทำการคำนวณว่า ถ้าเราสามารถปฏิรูปการศึกษากันสำเร็จตั้งแต่ในอดีต วันนี้เศรษฐกิจประเทศจะเป็นอย่างไร โดยแนวคิดก็คือ การปฏิรูปการศึกษาสำเร็จจะเพิ่มทักษะแรงงาน ทำให้ productivity ของแรงงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อ GDP เพิ่มขึ้น ซึ่งหากตั้งสมมติฐานว่า ถ้าปฏิรูปการศึกษาสำเร็จทำให้คะแนน PISA เพิ่มขึ้น 50 คะแนนภายใน 10 ปี เหมือนประเทศโปแลนด์เคยทำได้ (ไทยทำได้แค่เพิ่มขึ้น 3 คะแนนภายใน 10 ปี) สิ่งที่เราจะเห็นก็คือ อัตราการเติบโตของ GDP จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.14%ต่อปีหรือคิดเป็น 1.1 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งฟังดูตัวเลขอาจไม่มาก แต่ถ้าดูผลที่สะสมมาถึงปัจจุบัน เราจะพบว่าไทยมีต้นทุนค่าเสียโอกาสสะสมแล้วเป็นจำนวนมากถึง 1.5 ล้านล้าน (มูลค่าปัจจุบัน) หรือคิดเป็น 11% ของ GDP และในอนาคตตัวเลขต้นทุนค่าเสียโอกาสนี้ก็จะเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณเมื่อจำนวนแรงงานที่มีทักษะดีขึ้นเข้าสู่กำลังแรงงานทดแทนแรงงานรุ่นเก่า

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวเสริมว่า "ผลการศึกษาบอกเราว่า“ผลกระทบของปัญหาการศึกษา ถ้ามองระยะสั้นก็ผลไม่มาก แต่ระยะยาวจะมีผลมหาศาล ซึ่งแม้เราจะเริ่มปฏิรูปการศึกษากันในวันนี้ ก็ต้องใช้เวลาอีก 10 ปีกว่าจะปฏิรูปสำเร็จ แต่ก็ต้องใช้เวลาอีก 20 ปีถึงจะเห็นผลสำเร็จ คือ เห็นว่าสัดส่วนแรงงานที่มีทักษะดีจะเป็นครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด ซึ่งสะท้อนว่า เราต้องรีบและเร่งทำการปฏิรูปการศึกษาให้เร็ว เพราะกว่าจะเห็นผลนาน และวิธีนี้จะเป็นวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว ต่อเนื่อง ยั่งยืนที่สุด"

 

 

ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 24 ส.ค. 2559 เวลา 16:15:46 น.

 

โพสต์เมื่อ 25 ส.ค. 2559 อ่าน 9703 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 192]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2708]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1082]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5628]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2426]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)