ชี้บัณฑิตในศตวรรษที่21ต้องแข่งขันกับเทคโนโลยี



อธิการบดีมก.ย้ำครูต้องสอน “คิดนำ" “ทำไม” ขณะ"สมเกียรติ" เผยการแข่งขันในศตวรรษที่ 21 เป็นการแข่งขันกับเทคโนโลยี ชี้ไม่มีงานใดมั่นคงถ้าไม่มีการปรับตัว "วรากรณ์"แนะบัณฑิต Start Small Fail Fast


วันนี้(8ส.ค.)ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวในการสัมมนาอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประจำปี 2559หัวข้อ “การผลิตบัณฑิตเพื่อการแข่งขันในศตวรรษที่ 21” ว่า ตนเชื่อในพลังของอาจารย์มก.ที่จะร่วมมือกันสร้างระบบการศึกษาที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมทั้งในเรื่องผู้สูงวัย เทคโนโลยีที่ไปอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำทางสังคม กับดักรายได้ปานกลาง จึงต้องร่วมมือพัฒนาหลักสูตรที่ต้องประสานกับผู้ประกอบการมากขึ้น ต้องพัฒนาหลักสูตรการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและโลก เน้นการสอนด้วยเทคโนโลยี สอนในสิ่งที่ยังไม่มี เช่น สอนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า ต้องคิดนำ และปรับวิธีการสอน ที่เน้นการสอน “ทำไม” มากกว่าสอนเน้น “อะไร” นอกจากนี้ต้องพัฒนาคนให้เก่ง มีจริยธรรม มีคุณธรรมคือเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน ทั้งเก่งเรื่องนวัตกรรด้วย

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การแข่งขันในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่การแข่งขันกับมหาวิทยาลัยอื่น แต่เป็นการแข่งขันกับเทคโนโลยี เราต้องผลิตคนให้ทันกับเทคโนโลยีนั่นคือ ทักษะของคนเราต้องวิ่งแข่งกับเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยี ส่งผลกระทบต่อทุกอย่างในสังคม ทั้งการศึกษาและการทำงาน ซึ่งงานที่ใช้แรงงานและทำซ้ำๆถูกเครื่องจักรแย่งไปนานแล้ว อย่าง งานที่ใช้สมองและทำซ้ำบ่อยๆ ก็เสี่ยงถูกแย่ง เพราะคอมพิวเตอร์อาจทำได้ในอนาคต ส่วนงานที่ใช้แรงงานแต่ไม่ได้ทำซ้ำ เช่น ทำผม ไม่เสี่ยงแต่รายได้อาจไม่ค่อยดี และงานที่ใช้สมองและไม่ได้ทำซ้ำ เช่น นักวิจัย ไม่เสี่ยงตกงาน งานที่ต้องการในอนาคต คือ งานที่คอมพิวเตอร์ทำได้ยาก และทักษะในอนาคตที่โลกต้องการคือ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถทางสังคม การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง ยังมีความต้องการนักพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่ในอนาคต อย่างไรก็ตามสรุปแล้วไม่มีงานใดที่จะมั่นคงอีกต่อไปแล้ว ถ้าไม่มีการปรับตัว

ด้านรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีกิตติคุณมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า เราอยู่ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 คือยุคที่เป็นการต่อยอดด้วยเทคโนโลยี คุณลักษณะของบัณฑิตที่ต้องการคือ ต้องเป็นคนที่ไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง แต่สนใจเข้าไปเรียนรู้ คือ รู้ว่าจะต้องเรียนรู้อย่างไร กับอะไร ใคร อย่างไร ความเป็นพลเมือง ต้องมีจิตใจที่เปิดรับความแตกต่าง เคารพความเสมอภาค ยอมรับผู้คนที่แตกต่างทางเชื้อชาติภาษาได้ ต้องมีทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ และศีลธรรม ส่วนบัณฑิตรุ่นใหม่ ต้องเน้นทักษะ คือ มีความสามารถทำอะไรได้บ้าง ที่สำคัญคือต้องเริ่มต้นเล็กๆ ล้มให้เร็ว และลุกขึ้นไปต่อได้เร็ว นั่นคือ Start Small Fail Fast 

 

ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม 2559 เวลา 17.04 น.

โพสต์เมื่อ 9 ส.ค. 2559 อ่าน 9182 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)