นักธุรกิจชี้หลักสูตรมหาลัยไทยล้าหลัง



ดันไทยเข้าสู่โหมดพัฒนา4.0ไม่ได้ยกตัวอย่างไอทีตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงโลก

นักธุรกิจชี้ ไทยจะเข้า 4.0 ได้ต้องพัฒนาคน กระตุ้นให้เห็นวิกฤติ จี้ยกระดับการศึกษา เหตุหลักสูตรมหา'ลัยในปัจจุบันปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงยุคสมัย ยกตัวอย่างไอที ยังสอนเรื่องแอปพลิเคชัน ทั้งที่โลกไปไกลล้ำกว่าระบบคลาวด์

ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดเสวนาวิชาการเรื่อง "Start Up Thailand 4.0 เตรียมความพร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม" ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นายสุรพิชย์ พรหมสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท แบงคอก เทรนนิ่ง อินเตอร์เนชั่นนัล จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบุคลากรและนวัตกรรมการเรียนรู้ กล่าวว่า ประเทศไทยจะก้าวสู่ยุค 4.0 ได้ ที่สำคัญคือการขับเคลื่อนพัฒนาระบบการจัดการคน และการที่จะสร้างคนให้สามารถสร้างนวัตกรรมได้นั้น โดยต้องเริ่มจากการมีระบบการศึกษาที่ดี ดังนั้นจึงต้องกลับมามองการจัดการศึกษาของไทย ว่าครูผู้สอน หลักสูตร ได้มีส่วนกระตุ้นหรือทำให้เด็กเกิดการเปลี่ยนแปลงและผลิตนวัตกรรมได้หรือไม่ เพราะตอนนี้เด็กไทยใช้ชีวิตเรื่อยๆ ไม่ได้มองว่าประเทศกำลังวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศที่ประสบความสำเร็จอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย พวกเขาพยายามให้คนของตัวเองตื่นตัวรับมือกับวิกฤติต่างๆ ทำให้คนในประเทศมองเห็นปัญหา และสามารถคิดระบบการศึกษาให้สร้างคนมาจัดการกับวิกฤติที่ว่าได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบการจัดการคนต้องทำให้มีทักษะที่ไม่ใช่เพียงคิดเป็น แก้ปัญหาได้ แต่ต้องรู้จักนำความรู้ ข้อมูลที่มีมากมายในโลกดิจิตอลที่พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม ซึ่งจะสามารถทำได้เมื่อนำความรู้มาปฏิบัติจริง ดังนั้นสถานศึกษาต้องร่วมมือกับภาคธุรกิจ เอกชน ในการพัฒนาสร้างเด็กร่วมกัน เพื่อทำให้มีศักยภาพ ทำงานได้สอดคล้องกับที่สถานประกอบการต้องการ และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ รวมถึงต้องมีการเพิ่มเติมทักษะภาษาอังกฤษร่วมด้วย เนื่องจากตอนนี้คนไทยมีทักษะภาษาอังกฤษต่ำมาก ทำให้พลาดโอกาสดีในหลายๆ เรื่อง

"ระบบการศึกษาของไทยไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจอาชีพ บางคนเลือกเรียนเพราะอยากได้ปริญญาตรี ไม่ใช่เพื่อออกมาทำงานในสิ่งที่ตนเองเรียนมา อีกทั้งเด็กก็ไม่เคยเข้าไปปฏิบัติหรือเรียนรู้งานจริงๆ ขณะเดียวกัน อาชีวะเป็นการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ แต่กลับมีคนสนใจเรียนน้อย ดังนั้นระบบการศึกษาต้องผลักดันให้เด็กสนใจเรียนอาชีวะมากขึ้น และต้องทำให้เด็กอาชีวะมีสถานะสูงเทียบเท่าปริญญาตรี เช่น เงินเดือน เพราะสำหรับประเทศที่พัฒนาแล้ว คนจบอาชีวะเป็นคนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก เนื่องจากเป็นคนที่ทำงานเป็น ไม่ต้องมาสอนซ้ำ" นายสุรพิชย์กล่าว

ด้านนายเฉลิมรัฐ นาควิเชียร ผู้อำนวยการสถาบันอินเทอร์เน็ตและการออกแบบ (Net Design) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการสื่อสาร กล่าวว่า ตอนนี้สิ่งที่มหาวิทยาลัยสอนในปัจจุบัน เป็นหลักสูตรที่ผลิตคนที่ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงยุคสมัยของโลก และไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น หลักสูตรด้านไอที เมื่อมหาวิทยาลัยเปิดสอน วัตถุประสงค์คือต้องการกำลังผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับยุค Appication แต่เมื่อเด็กจบออกมา ตอนนั้นก้าวสู่ยุค Cloud หรือยุคอื่นไปแล้ว ซึ่งที่เป็นแบบนี้ เพราะระบบการศึกษาไทยไม่ได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนในการเสนอแนะเรื่องการผลิตกำลังคนของประเทศ ซึ่งการจะให้ระบบการศึกษาของไทยสามารถผลิตบัณฑิตสอดคล้องกับความต้องการของโลกเทคโนโลยี นวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือก้าวสู่ยุค 4.0 ได้นั้น รัฐจะต้องมีนโยบายที่เปิดกว้างทางความคิด ให้สถานประกอบการจริงได้เข้ามามีส่วนร่วมในระบบการศึกษา โครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน และต้องพัฒนาระบบความคิดของผู้สอน. 

 

 

ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 5 สิงหาคม 2559

โพสต์เมื่อ 5 ส.ค. 2559 อ่าน 5918 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1085]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5645]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2430]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)