แบงก์โลกชี้บัณฑิตไทยมีมากขึ้นแต่คุณภาพลดลง



[เดลินิวส์]-ธนาคารโลกชี้คุณภาพแรงงานไทยถดถอยฉุดรั้งโอกาสก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง เผยแรงงาน 1 ล้านคนว่างงานเฉลี่ย 6 เดือนทุกปี ส่วนที่เหลือมีแต่ทักษะการทำงานซ้ำๆ ย้ำทักษะแรงงานอนาคตต้องเน้นสร้างทักษะคิดสร้างสรรค์ เป็นจุดต่างจากทักษะประจำ ในขณะที่บัณฑิตมีจำนวนมากขึ้น แต่คุณภาพกลับลดต่ำลง

วันนี้(12ก.ค.) สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และธนาคารโลก ได้จัดเสวนา "เดินหน้าการศึกษาไทยอย่างไรให้ตอบโจทย์ ‘Thailand Economy 4.0’ จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์การศึกษารุ่นใหม่" โดยดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า ประเทศไทยมีกำลังแรงงานในช่วงอายุ 15-65 ปี ราว 37 ล้านคน แต่กลับขาดแคลนแรงงานฝีมือซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในมุมของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศถดถอยลงมาตั้งแต่พ.ศ.2550 อีกทั้งค่าจ้างของแรงงานทุกกลุ่มลดลงรุนแรง และยังมีแนวโน้มซบเซามากกว่า 10 ปีที่แล้ว ก่อนเริ่มนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งสวนทางกับอัตราการศึกษาของแรงงานไทยที่ดีขึ้นถ้านับตามจำนวนปีการศึกษา แต่อย่างไรก็ตามแม้ประเทศไทยมีปริมาณบัณฑิตเข้าสู่ตลาดแรงงานจำนวนมาก แต่กลับขาดทักษะที่นายจ้างต้องการ ทำให้ต้องยอมทำงานรับค่าจ้างต่ำกว่าวุฒิ และออกไปอยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการ ขณะที่แรงงานระดับล่างกว่า 1 ล้านคนประสบปัญหาว่างงานเป็นประจำอย่างน้อย 6 เดือนทุกปีเพราะขาดทักษะที่นายจ้างต้องการเช่นกัน

ดร.ดิลกะ กล่าวต่อไปว่า แม้อัตราการเข้าเรียนต่ออุดมศึกษาของไทยจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่บัณฑิตที่จบออกมากลับมีความสามารถต่ำลง จากผลทดสอบนานาชาติ PISA พบว่านักเรียนไทยจำนวนมากยังขาดทักษะที่จำเป็นต่อการประสบความสำเร็จในอาชีพ หรือการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น โดย 1 ใน 3 ของนักเรียนไทยที่อายุ 15ปี รู้หนังสือไม่เพียงพอที่จะใช้งานได้ และยังมีช่องว่างของทักษะขั้นพื้นฐานอย่างการอ่านของเด็กไทยเปรียบเทียบในชนบทและในเมืองที่ต่างกันมากถึง 3 ปีการศึกษา หากเปรียบเทียบกับเวียดนาม จะพบว่าความสามารถของนักเรียนเวียดนามแซงหน้าเด็กไทยถึง 1.5 ปีการศึกษา จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเมินลงทุนในประเทศไทย และเบนเข็มไปลงทุนและย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เพราะคุณภาพแรงงานของไทยไม่พัฒนา ยังไม่นับรวมปัจจัยด้านคุณภาพของระบบราชการไทยและตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลที่ดีลดลง ขณะที่ประเทศอื่นๆปรับปรุงดีขึ้น

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่ Economy 4.0 ด้วย Education 2.0 จึงไม่สามารถช่วยให้ผู้ที่เรียนจบปรับตัวเข้ากับโลกของการทำงานได้ เกิดปัญหาช่องว่างทางทักษะที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเศรษฐกิจปรับตัว แต่แรงงานไทยปรับตัวไม่ทัน ทำงานไม่ได้ตามที่นายจ้างคาดหวัง ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ได้ร่วมกับสสค.ทำวิจัยประเด็นช่องว่างทักษะเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต ตราด และอีก 14 จังหวัดพบว่า ช่องว่างทักษะสูงที่สุด 3 อันดับแรก ในกลุ่มจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาเทียบเท่ากับ Economy 2.0 และกำลังพัฒนาไปสู่ Economy 3.0 คือ 1.ทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศอื่นๆ 2.ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ และ 3.ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต สำหรับในส่วนจังหวัดที่มีระดับการพัฒนาเทียบเท่ากับ Economy 3.0 และกำลังก้าวไปสู่ Economy 4.0 พบว่า มีช่องว่างทักษะเพิ่มขึ้นทุกประเด็น ถ้าไม่นับปัญหาภาษาต่างประเทศ โดยช่องว่างทักษะสูงที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1. ความรู้เฉพาะตามตำแหน่งงานที่ทำ 2.การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงาน และ 3.ความสามารถในการเรียนรู้งาน

ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวอีกว่า หากเทียบกับผลสำรวจของสหราชอาณาจักรและแคนาดา พบว่าประเทศไทยมีปัญหาช่องว่างทักษะรุนแรงกว่าทั้งสองประเทศถึงเท่าตัว และหากเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันของทุนมนุษย์กับประเทศอื่นๆในเอเชียพบว่า ยังไม่ดีเท่ามาเลเซีย จีนและสิงคโปร์ ทั้งยังได้คะแนนคุณภาพการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าประเทศเวียดนามที่เริ่มต้นช้ากว่า 15-20 ปี หรือแม้แต่ฟิลิปปินส์ที่มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าไทย

" การศึกษาไทยในโลกยุคใหม่ต้องก้าวสู่การคิดวิเคราะห์ ค้นคว้าสิ่งใหม่ แต่ไทยยังท่องจำเพื่อไปสอบ ถ้าเรายังไม่ปรับตัวตอนนี้ เราอาจจะไม่ใช่สิ้นชาติ แต่จะหมดโอกาสในการสร้างชาติ ดังนั้นการศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพแรงงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค Thailand Economy 4.0 แต่ระบบการศึกษาที่จะตอบโจทย์นี้ต้องเปลี่ยนวิธีการสอน ลดการเรียนรู้เชิงเทคนิค และการท่องจำ แต่ให้น้ำหนักกับการสร้างทักษะการเรียนรู้และปรับตัวของผู้เรียนให้สามารถพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต และจัดการเรียนรู้โดยคำนึงถึงความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่และกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งมีวิธีการประเมินผลการเรียนแตกต่างจากปัจจุบันที่เน้นการสอบเพียงอย่างเดียว" ดร.เกียรติอนันต์ กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค.กล่าวว่า พายุไต้ฝุ่นระดับ 5 กำลังทำลายตลาดแรงงานไทย สถานการณ์เลิกจ้าง ตัวเลขบัณฑิตตกงานจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในอีก 5 ปีถัดจากนี้ จะเน้นการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานที่ใช้ “ทักษะการทำซ้ำเป็นประจำ” (Routine Skill) จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ซึ่งมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงกว่ามนุษย์และมีต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกกว่า ดังนั้นแรงงานที่จะไม่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีจึงต้องเป็นแรงงานที่มี “ทักษะที่ไม่ทำซ้ำเป็นประจำ (Non-Routine Skill) หรือเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือ ทักษะคิดสร้างสรรค์ หรือการคิดวิเคราะห์ (Creative & Critical Thinking Skills) ซึ่งจะสามารถสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทางธุรกิจในตลาดได้ สอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการแรงงานของนายจ้างและองค์กรเกิดใหม่ในปี 2557 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA) พบว่านายจ้างขององค์กรในศตวรรษที่ 21 คาดหวังให้พนักงานในองค์กรมีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มากที่สุด

ดร.ไกรยส กล่าวอีกว่า สสค.เป็นหนึ่งในองค์กรการศึกษาจาก 14 ประเทศทั่วโลกที่ OECD เชิญเข้าร่วมนำร่องเครื่องมือวัดประเมินทักษะด้านการคิดวิเคราะห์คิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะมีการประกาศใช้จริงครั้งแรกในพ.ศ.2564 เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ประเทศต่างๆเร่งพัฒนาทักษะแห่งอนาคตเหล่านี้ ซึ่งจะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ต่อเนื่องได้ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ส่วนทักษะซ้ำๆจะหมดโอกาสในการทำงาน

 

ขอบคุณเนื้อหาและอ่านเพิ่มเติมได้ที่ เดลินิวส์ วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2559 เวลา 19.51 น.
 

โพสต์เมื่อ 13 ก.ค. 2559 อ่าน 9721 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 189]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2702]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1078]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5586]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2421]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)