ก.ค.ศ.เร่งทำคลอดเกณฑ์พีเอให้ทันสิงหาคมนี้



ปรับเกณฑ์วิทยฐานะใหม่ใกล้ความจริง “พินิจศักดิ์”เผยจะเร่งให้ทันเข้าที่ประชุม ก.ค.ศ.เดือนสิงหาคมนี้ วิทยฐานะชำนาญการ-ชำนาญการพิเศษจบที่ กศจ. ขณะที่เชี่ยวชาญ-เชี่ยวชาญพิเศษต้องถึงก.ค.ศ.


วันนี้(7 ก.ค.)นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยถึงการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะหรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและเชี่ยวชาญตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ พีเอ (Performance Agreement : PA) ว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.)ได้เร่งรัดให้ ก.ค.ศ. จัดทำร่างหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะในทุกระดับ ทั้งระดับชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว นั้น ขณะนี้การดำเนินการมีความก้าวหน้ามากแล้ว และคาดว่าจะเสนอได้ทันการประชุม ก.ค.ศ.เดือนสิงหาคมนี้

เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวต่อไปว่า การประเมินดังกล่าวจะมุ่งวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ต้องมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งเบื้องต้นร่างหลักเกณฑ์ที่จะเสนอจะแบ่งการประเมินออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นข้อตกลงในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน และคุณภาพในการดำเนินการตามหน้าที่และความรับผิดชอบ ซึ่งทุกคนต้องทำตั้งแต่เริ่มเข้ามาเป็นครู เหมือนเป็นคำมั่นสัญญาต่อผู้บังคับบัญชาในการพัฒนาผู้เรียน โดยต้องกำหนดแนวทางและวิธีการที่มุ่งให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น และต้องจัดทำเป็นประจำทุกปี ส่วนที่ 2 เป็นข้อตกลงในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในสาขาที่ขอรับประเมิน ซึ่งต้องมีองค์ประกอบในการจัดทำ คือ ประเด็นที่จะพัฒนาการทำงาน เหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ เป้าหมาย กระบวนการพัฒนา วิธีการตรวจสอบประเมินผล สุดท้ายจะต้องบอกถึง ผลที่คาดว่าจะได้รับ ซึ่งกรรมการผู้ประเมินจะประเมินตามองค์ประกอบดังกล่าว ทั้งนี้ผู้ที่จะคัดกรองและให้ความเห็นชอบการประเมินตามเกณฑ์พีเอ และ อนุมัติวิทยฐานะระดับชำนาญการและชำนาญการพิเศษ ตามลำดับตั้งแต่ ผอ.สถานศึกษา ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา และ สิ้นสุดที่คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) ส่วนระดับเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ จะได้รับการพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ตั้งแต่ ผอ.สถานศึกษา ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา กศจ. จนถึง ก.ค.ศ.

“หลักเกณฑ์พีเอใหม่เป็นการผสมผสานระหว่าง ว 13 การประเมินผลงานเชิงประจักษ์ และ ว 17 การประเมินผลงานทางวิชาการ แต่มีการกำหนดชัดเจนว่า วิทยฐานะชำนาญการและชำนาญการพิเศษให้สิ้นสุดที่ กศจ. ส่วนเชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องส่งให้ ก.ค.ศ.ให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากการประชุม ก.ค.ศ.เดือนสิงหาคมให้ความเห็นชอบข้อตกลงหลักเกณฑ์ดังกล่าวตามที่ก.ค.ศ. เสนอ จะมีผลให้การประเมินตาม ว 17 และ ว 13 ถูกยกเลิกไป และต้องประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งระหว่างที่ยังไม่ยกเลิกหลักเกณฑ์เดิม ผู้ที่ยื่นขอเข้ารับการประเมินวิทยฐานะสามารถเข้ารับการประเมินได้ตามหลักเกณฑ์เดิม และโดยหลักการหากมีการประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ก็จะมีข้อยกเว้นให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขอมีวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์เดิมได้รับการพิจารณาจนแล้วเสร็จ”นายพินิจศักดิ์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม คงไม่สามารถบอกได้ว่าหลักเกณฑ์ใหม่จะลดภาระครูได้มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าจะทำให้ครูมีเวลาทุ่มเทกับการเรียนการสอนมากขึ้น เพราะเกณฑ์ใหม่เน้นวัดที่ประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ในการสอนที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กเป็นสำคัญ

 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม 2559 เวลา 16.45 น.

โพสต์เมื่อ 7 ก.ค. 2559 อ่าน 20377 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2730]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1089]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5687]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2438]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)