สสส. ชู 3 โมเดล กลไกขับเคลื่อน การพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัด วิเคราะห์ “สถานการณ์” สร้าง ทีม ทุน ศักยภาพ ขยายผลระดับจังหวัด



นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจตัวเลขเด็กแรกเกิด-5 ปี ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2558 จำนวน 4,479,324 คน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากปี 2555 จำนวน 4,612,182 คน ดังนั้น จึงต้องเตรียมเด็กให้พร้อมที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอีก 25 ปีข้างหน้า ซึ่งมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 20.5 ล้านคน หรือ 32% ของประชากรและวัยแรงงานลดลงเหลือ 35.2 ล้านคน ส่งผลให้ศักยภาพการผลิตลดลง ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้นและเป็นข้อจำกัดการขยายตัวของสัดส่วนกำลังแรงงาน ดังนั้น จากการวิเคราะห์สถานการณ์ตามช่วงวัยของสภาพัฒน์ พบประเด็นปัญหา 4 เรื่องคือ 1.การตั้งครรภ์คุณภาพ 2.การคัดกรองดูแลไม่ต่อเนื่อง ระบบข้อมูลแยกส่วน 3.คุณภาพครู สถานเลี้ยงเด็ก สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และ 4.พัฒนาการล่าช้ามีแนวโน้มพร่องและโภชนาการล่าช้า จึงเป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัยของ สสส.

นางเพ็ญพรรณ กล่าวต่อว่า การพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย (แรกเกิด-5 ปี) ใช้กลไกการทำงานแบบบูรณาการ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย โดยมีโครงการสำคัญร่วมกันดูแลเด็กตามช่วงวัย ได้แก่ แรกเกิด-5 ปี โครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การหนุนเสริมการทำงานของคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัด วัยแรกเกิด-2 ปี ระบบป้องกันดูแลรักษาความพิการแต่กำเนิด ความร่วมมือในโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และช่วงวัย 2-5 ปี การส่งเสริมศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย

 

“การสนับสนุนของ สสส.พบรูปแบบการขับเคลื่อนพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัย โดยใช้ระบบและกลไกจังหวัด เพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยใน 3 รูปแบบ คือ 1.จังหวัดเชียงใหม่ใช้กลไกขับเคลื่อนโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 2.จังหวัดนครพนม ใช้มหาวิทยาลัยเป็นผู้ขับเคลื่อน 3.จังหวัดจันทบุรีและลำพูน ขับเคลื่อนโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยจังหวัด ทั้งนี้ รูปแบบการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลความสำเร็จจากการทำงานร่วมกับคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้โครงการสร้างเสริมศักยภาพภูมิปัญญาท้องถิ่น (COACT) เพื่อการดูแลเด็กวัย 2-5 ปี มากว่า 4 ปี โดยมีพื้นที่ทำงานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย” นางเพ็ญพรรณ กล่าว

 

รศ.ดร.จุฑามาศ โชติบาง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้จัดการโครงการ COACT กล่าวว่า หลักการของ COACT เริ่มจากการศึกษาสถานการณ์ปัญหาและความต้องการการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยของชุมชนนั้นๆ ร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ท้องถิ่น ท้องที่ ผู้ปกครอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล และคนในชุมชนของแต่ละพื้นที่ โดยสร้างความเข้าใจโครงสร้างการทำงาน บริบท ปัญหา เพื่อการขยายผลระดับจังหวัด ซึ่งได้ออกแบบการทำงานให้เกิดความชัดเจนโดยอาศัยความร่วมมือจาก 3 ภาคส่วน คือ 1.นักวิชาการ 2.ภาครัฐ และ 3.ภาคประชาสังคม โดยขับเคลื่อนผ่านข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อเสนอใน 3 ระดับ ทั้งข้อเสนอระดับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ข้อเสนอระดับเครือข่าย และข้อเสนอระดับจังหวัด ทั้งนี้ พลังการขับเคลื่อนที่สำคัญเกิดจากการมีทีม ทุน และศักยภาพ เพื่อการขยายผลระดับจังหวัดสู่ความสำเร็จในการพัฒนาเด็กปฐมวัย 

โพสต์เมื่อ 17 มิ.ย. 2559 อ่าน 13572 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2730]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1089]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5689]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2438]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)