ศธ.ประชุมหารือกับที่ประชุมอธิการบดี กรณีการรับนักศึกษาเกินจำนวนจนส่งผลในการออกใบอนุญาตฯ



ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 252/2559
ศธ.ประชุมหารือกับที่ประชุมอธิการบดีในการรับนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยกลุ่มต่าง ๆ กรณีที่คณะกรรมการคุรุสภามีมติไม่อนุมัติใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัย 11 แห่งที่รับนักศึกษาเกิน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2559 ที่ห้อง MOC

โดยมีผู้บริหารที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือในครั้งนี้ อาทิ รศ.ดร.สมบัติ คชสิทธิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ, ดร.สาธิต พุทธชัยยงค์ ประธานที่ประชุมคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล, ผศ.ดร.วิโรจน์ เรืองประเทืองสุข ผู้แทนประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รวมทั้งผู้แทนจากมหาวิทยาลัยเอกชน, พ.อ.ณัฐพงษ์ เพราแก้ว เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา 

รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยกับสื่อมวลชนภายหลังการหารือว่า กรณีที่คณะกรรมการคุรุสภามีมติไม่อนุมัติใบประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาให้แก่มหาวิทยาลัย 11 แห่งที่รับนักศึกษาเกินนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีมหาวิทยาลัยจำนวน 11 แห่ง ที่รับนักศึกษาหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา เกินกว่าจำนวนที่ขออนุญาตเปิดหลักสูตร ส่งผลให้คุรุสภาไม่อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งบางมหาวิทยาลัยรับเกินเพียงหลักสิบคน แต่บางมหาวิทยาลัยรับเกินเป็นจำนวนมากกว่า 1,000 คน จึงต้องมีการตรวจสอบรายงานข้อมูลของมหาวิทยาลัยที่ส่งมาให้คุรุสภาควบคู่ไปด้วยว่าข้อมูลมีความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ทั้งในเรื่องของจำนวนอาจารย์ แผนการจัดการเรียนการสอน รายได้ของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

ดังนั้น จึงต้องการรับฟังความคิดเห็นจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยกลุ่มต่างๆ ในครั้งนี้ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาต่อไป ซึ่งที่ประชุมครั้งนี้มีความเห็นตรงกันว่า การผลิตบัณฑิตเกินกว่าที่ควรจะเป็น ย่อมส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างแน่นอน และมหาวิทยาลัยนั้นๆ จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย พร้อมทั้งได้เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจ อาทิ ไม่ให้อนุมัติใบประกอบวิชาชีพทุกกรณีเมื่อทำผิดกติกา, ให้มหาวิทยาลัยสอบคัดเลือกนักศึกษาเองแล้วส่งรายชื่อมาให้ สกอ. ตามจำนวนที่ขออนุญาตไว้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สกอ. ก็ต้องนำมาพิจารณาด้วยว่า หลักเกณฑ์เดิมมีความสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป และรองรับการเรียนการสอนในรูปแบบวิธีการหลากหลายมากขึ้นหรือไม่

ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาสาขา "บริหารการศึกษา" เป็นพิเศษ เพราะผู้บริหารโรงเรียนจะใช้เป็นวุฒิการศึกษาในการสมัครเข้าสู่ตำแหน่ง ซึ่งย่อมส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของผู้เรียนในสถานศึกษานั้นๆ ต่อไปด้วย ยืนยันว่าในเรื่องของการศึกษาต่อนั้น ไม่ต้องการจะปิดกั้นใดๆ และจะดีใจมากหากผู้อำนวยการโรงเรียนได้ไปศึกษาต่อจริง แต่หากได้ผู้อำนวยการโรงเรียนที่จบมาแบบไม่มีคุณภาพ ก็ย่อมส่งผลถึงคุณภาพของเด็กและสถานศึกษาอย่างแน่นอน

จึงฝากให้ครูหรือผู้บริหารที่สนใจจะศึกษาต่อ ควรศึกษาหาข้อมูลและดูรายละเอียดต่างๆ เป็นอย่างดี โดยเชื่อว่ากรณีนี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ทุกคนมีความตระหนักและคำนึงถึงการตรวจสอบข้อมูลมากขึ้น โดยเฉพาะสภามหาวิทยาลัยที่ต้องพิจารณาข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับหลักสูตรอย่างละเอียดมากขึ้นในครั้งต่อไป

 

นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร : สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ

 

ที่มา ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 16 มิถุนายน 2559

โพสต์เมื่อ 17 มิ.ย. 2559 อ่าน 9305 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 188]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2700]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1076]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5560]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2416]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)