ชี้เงิน 4% ค่ารายหัวเด็กไม่ใช่เงินเดือนครู



พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิ การ (ศธ.) เสนอเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชน 4% ว่า เรื่องนี้อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะสิ่งที่ ศธ.พิจารณา คือ เนื่องจากรัฐบาลได้ปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราช การ 4% ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557 นั้น ตนได้หารือร่วมกับสำนักงานปลัด ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนัก งานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงบประมาณแล้ว เห็นชอบให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2550 ที่ให้ปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนในส่วนของเงินสมทบเป็นเงินเดือนครูในอัตราเดียวกันทุกครั้งที่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ ดังนั้นโรงเรียนที่ได้รับเงินอุดหนุนตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี อยู่แล้ว จะได้ปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนอีก 4% เท่ากับอัตราเพิ่มเงินเดือนข้าราชการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557

รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับตัวเลขเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่จะปรับเพิ่มเป็น ดังนี้ ระดับอนุบาลและประถมศึกษา เพิ่ม 264 บาทต่อคนต่อปี มัธยมศึกษาและประกาศนีย บัตรวิชาชีพ(ปวช.) เพิ่ม 330 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งครอบคลุมนักเรียนเอกชนสังกัด สช.และ สอศ. 2,279,076 คน โดยใช้งบฯ ปีละ 646.8 ล้านบาท ซึ่งจะตั้งงบประมาณตั้งแต่ปีงบฯ 2560 เป็นต้นไป สำหรับส่วนที่ย้อนหลังระหว่างเดือนธันวาคม 2557-กันยายน 2559 จำนวน 1,186 ล้านบาทนั้น มอบให้ สช. และ สอศ.ปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2559 และเสนอของบฯ กลางไปยังสำนักงบประมาณ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

"การเพิ่มเงินอุดหนุนดังกล่าว เป็นการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ไม่ใช่เพื่อการจ่ายเงินเดือนเพิ่มให้ครู เนื่องจากหน้าที่การจ่ายเงินเดือนครูเป็นหน้าที่ของโรงเรียนเอกชน เมื่อโรงเรียนได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนก็จะนำไปปรับเงินเดือนครูเอง ซึ่งในทางปฏิบัติต้องยืดหยุ่นตามสภาพการดำเนินงานของแต่ละโรงเรียนด้วย เช่น บางโรงเรียนมีนักเรียนไม่มาก เงินอุดหนุนที่ได้เพิ่มอาจเพิ่มเงินเดือนให้ครูได้ไม่ถึง 4% โดยที่ผ่านมาบางโรงเรียนก็ได้ปรับเพิ่มเงินเดือนให้ครูไปตามช่วงเวลาปกติอยู่แล้ว ดังนั้น โรงเรียนอาจนำเงินอุดหนุนส่วนนี้ไปใช้พัฒนาคุณภาพด้านอื่นแทนก็ได้ แต่ สิ่งสำคัญคือตามระเบียบว่าด้วยการอุดหนุนกำหนดให้ครูจะต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าวุฒิที่ทางราชการกำหนด ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2558 มีครูเอกชนทั้งสายสามัญฯ และอาชีวศึกษา ทั้งสิ้น 171,620 คน" รมว.ศธ. กล่าว

พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพให้แก่นักเรียน ทั้งของรัฐและเอกชน เพราะการที่โรงเรียนเอกชนเข้ามาร่วมจัดการศึกษาเป็นการช่วย แบ่งเบาภาระของรัฐบาล ดังนั้น ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจึงได้ให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่โรงเรียนเอกชนมาโดยตลอด โดยก่อนการ ปรับเงินอุดหนุนครั้งนี้ รัฐได้ให้การอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามโครงการเรียนฟรี 15 ปี สำหรับโรงเรียนเอกชนอยู่แล้วปีละประมาณ 26,000 ล้านบาท.

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

โพสต์เมื่อ 3 พ.ค. 2559 อ่าน 19635 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1243]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)