ศธ.ชูอิงลิชบู๊ทแคมป์พัฒนาครูแกนนำภาษาอังกฤษ



โดย ภูดิศ เชื้อประดิษฐ์

กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร โดยมีจุดเริ่มต้นในการสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษ โดยได้ร่วมมือกับ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และโพลีพลัส ในการผลิตวีดิทัศน์ โดยมีดารา นักร้อง นักแสดง รวมทั้งนักกีฬาชื่อดังมาเข้าร่วมประชาสัมพันธ์ตามโครงการ "I Speak English เพื่อชีวิตที่ Better" โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้กำหนดรูปแบบการพัฒนาครูแกนนำการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ

ล่าสุด คัดเลือกครูจากผลการประเมินเพื่อจัดกลุ่มครูตามความสามารถ (placement test) จำนวน 350 คน เข้าร่วมโครงการ โดยใช้เกณฑ์ครูที่มีความสามารถทางภาษาอังกฤษระดับ บี2 ขึ้นไป และมีอายุไม่เกิน 40 ปี จากทั่วประเทศ ประกอบด้วย ครูระดับประถมศึกษาจำนวน 160 คน ครูระดับมัธยมศึกษาจำนวน 190 คน โดยการดำเนินโครงการภายใต้การพัฒนาความสามารถภาษาอังกฤษและเทคนิคการสอนของครูสอนภาษาอังกฤษ ด้วยการจัดค่ายภาษาอังกฤษแบบเข้ม (English Boot Camp) ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาในการอบรมทั้งทักษะภาษาและเทคนิคการสอน

รวมทั้งกิจกรรมและบริบทในการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ตลอดระยะเวลาอบรม 37 วัน (5 สัปดาห์) ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคมp11 เมษายน 2559 โดยใช้วิทยากรชาวต่างประเทศที่เป็นเจ้าของภาษา 30 คน ที่มีความสามารถภาษาอังกฤษสูงและมีความสามารถในการใช้เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษ หรือจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่เป็นแม่แบบได้ รวมทั้งมีการประเมินทักษะ

"นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การอบรมครูแกนนำถือเป็นการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่เป็นแม่แบบได้ มีการประเมินทักษะภาษาอังกฤษ 4 ทักษะ ได้แก่ ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน และจะมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามพฤติกรรมการสอนของครูที่โรงเรียนและการขยายผลในโรงเรียนและในเขตพื้นที่ของตนในฐานะครูแกนนำต่อไป "สุนันทา เพ็งแจ้ง" ครูผู้เข้าร่วมอบรมจากโรงเรียนอนุบาลโพทะเล "รัฐบำรุง" จ.พิจิตร กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ดีต้องเกิดจากครูกระตุ้น มีสื่อการเรียนการสอนที่น่าสนใจ บรรยากาศแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การพัฒนาครู ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างหลักสูตร โครงสร้างวิชา โครงสร้างเวลาให้การเรียนการสอนมีวิชาเรียนภาษาอังกฤษทั้ง 5 วันต่อสัปดาห์ จากเดิมที่เรียนแค่ 1-2 คาบต่อสัปดาห์ เด็กจะฟังมากขึ้น เป็นการช่วยเหลือครูผู้สอนอีกทางหนึ่ง

"การอบรมครูภาษาอังกฤษแบบจริงจังต้องให้เจ้าของภาษามาอบรมให้ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเรื่องเป็นราวและสามารถนำไปใช้ได้จริงถึงจะเห็นผล เพราะในโรงเรียนมีทั้งครูไทยและครูต่างชาติ มีห้องสำหรับนักเรียนกลุ่มอิงลิช โปรแกรม (อีพี) จะมีครูไทยที่ใช้ภาษาอังกฤษสอนในห้องเรียนตามหลักสูตรร่วมกับครูต่างชาติ หากมีการอบรมทำให้มีเทคนิคการเรียนสอนที่ดีขึ้น เชื่อว่าจะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีตามไปด้วย" สุนันทา กล่าว แอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการบริติช เคานซิล กล่าวว่า การเรียนไม่ใช่การศึกษาที่อยู่เพียงแต่ในห้องเรียน แต่สามารถเกิดในทางปฏิบัติได้ด้วย การอบรมนี้จะสามารถเพิ่มความรู้เกิดการฝึกฝนมากขึ้นเกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ดี มีการใช้ภาษาอังกฤษในการพูดอยู่ตลอดเวลา เรียนรู้จากความผิดพลาดนำมาแก้ไข ปรับเปลี่ยนวิธีการ การฝึกไม่ใช่การฝึกใช้ไวยากรณ์ แต่เป็นการฝึกใช้ภาษาอังกฤษที่ใช้งานได้จริงๆ รวมทั้งมีการสอนเทคนิคใหม่ๆ ครูจะได้มีเทคนิคการสอนเองด้วย

อย่างไรก็ตามเด็กส่วนใหญ่จะมีทักษะการฟังและพูดพอได้สามารถโต้ตอบได้ หากมีการเพิ่มคาบวิชาเรียนมากขึ้นก็จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนครู ครูที่สอนภาษาอังกฤษบางคนไม่ใช่ครูที่จบมาด้านครูภาษาอังกฤษโดยตรง ครูที่สอนระดับประถมก็จะสอนคำศัพท์ ทักษะ แค่ในระดับความรู้ของเด็กประถม ความสามารถทางด้านภาษาของเด็กเพิ่มขึ้น แต่ระดับความสามารถของครูก็ลดลง หากมีการเพิ่มโครงสร้างวิชาใหม่เข้าไป ให้มีภาษาอังกฤษเรียนในทุกๆ วัน ความจำเป็นในการใช้ภาษาอังกฤษก็มีมากขึ้น


ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

โพสต์เมื่อ 16 มี.ค. 2559 อ่าน 9937 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1085]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5648]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2430]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)