เปิดแผนแก้หนี้ครูทั่วประเทศ ดึงเงินในอนาคตมาชำระแทน



#showpic

หากดูจากงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 517,000 ล้านบาท ถือเป็นงบประมาณที่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

กลายเป็นรูปเป็นร่างเสียทีกับแนวทาง “แก้ไขปัญหาหนี้สินครู” ที่ล่าสุด... ครม.ได้รับทราบแนวทางทั้งหมดไปแล้ว...ด้วยการออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมของธนาคารออมสิน ที่เปรียบเสมือนเป็นสถาบันการเงินต้นเรื่องของปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลายาวนานกว่าหลายสิบปีก็ว่าได้ เพราะไม่ว่าจะกี่รัฐบาล ปัญหานี้...ก็กลายเป็นปัญหาโลกแตกที่วนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด แม้มีมาตรการช่วยเหลือสารพัดรูปแบบ แต่สุดท้าย! ก็ย้อนกลับมาอยู่ที่เดิมเสมอ

ยิ่งไปกว่านั้น...หากดูจากงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับการจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 517,000 ล้านบาท ถือเป็นงบประมาณที่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลต้องการพัฒนาการศึกษาไทย แต่จากปัญหาหนี้เสียที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าพัฒนาการศึกษาได้นั่นเอง

หนี้ครูทะลัก1.2 ล้านล้าน

ต้องยอมรับว่าปัญหาหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ยังคงเป็นปัญหาระดับประเทศที่ท้าทายฝีมือนายกรัฐมนตรีได้ทุกยุคทุกสมัยเนื่องจากเป็นปัญหาที่สะสมคล้ายกับ “ดินพอกหางหมู” ก็คงไม่แปลก เพราะที่ผ่านมาสามารถพูดได้เต็มปากว่าไม่มีรัฐบาลชุดใดสามารถแก้ไขปัญหาได้ขาด ถือเป็นเรื่องที่สำคัญภายใต้การบริหารประเทศของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ที่ต้องเร่งสะสางเป็นการด่วนเพราะหากยังเพิกเฉย ทำเป็นไม่รับรู้กับเรื่องที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบมหาศาลกับธนาคารออมสิน ที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ที่มีรัฐบาลเป็นประกัน ถึงขั้นต้องเสียหลัก เพราะมีหนี้เสียของครูจำนวนมากก็เป็นได้

จากข้อมูลของกระทรวงศึกษาธิการพบว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีหนี้ในระบบสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น หนี้เงินกู้กับสหกรณ์ออมทรัพย์ครูและแหล่งกู้อื่น 700,000 ล้านบาท หนี้ที่กู้กับธนาคารออมสิน ผ่านทางโครงการสวัสดิการเงินกู้กองทุนการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) รวม 7 โครงการ ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) รวม 470,000 ล้านบาท คิดเป็น 470,000 ราย ซึ่งยังไม่นับถึงหนี้นอกระบบ ที่คาดการณ์ว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินทั้งหมดหรือสูงกว่า 2 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว

แนวทางแก้ไข

เมื่อปัญหาที่สะสมมานานเริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินการของธนาคารออมสิน เนื่องจากมีการขาดชำระหนี้จำนวนมาก เป็นระยะเวลาต่อเนื่องหรือเรียกว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ทำให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องหาแนวทางแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จและครบวงจรเป็นการด่วน โดยการออกมาตรการลดภาระหนี้ เพื่อช่วยเหลือข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ เพื่อต้องการป้องกันครูล้มละลาย จนส่งผลกระทบไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เพราะหากครูล้มละลายจะส่งผลกระทบต่อกันเป็นลูกโซ่ ทั้งครู ผู้ที่ค้ำประกัน และสุดท้ายจะกระทบที่สหกรณ์

ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้แบ่งชั้นลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มลูกหนี้วิกฤติรุนแรง ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้องถูกดำเนินคดี หรือถูกบังคับคดี ลูกหนี้ขาดความสามารถในการชำระหนี้จากสาเหตุที่จำเป็นและมีรายการทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สิน, กลุ่มลูกหนี้ใกล้วิกฤติซึ่งเป็นลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 12 งวดติดต่อกัน, ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 12 งวดติดต่อกัน และลูกหนี้ปกติ ที่ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้และสามารถบริหารจัดการหนี้ได้

ดอกต่ำ-ผ่อนนาน

ล่าสุด...ธนาคารออมสินได้ดำเนินโครงการลดภาระหนี้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีเป้าหมายปล่อยสินเชื่อเพื่อนำมาใช้หนี้เก่าเท่านั้น (รีไฟแนนซ์) ยิ่งไปกว่านั้นธนาคารได้ปรับลดดอกเบี้ยเหลือ 4% จากดอกเบี้ยปัจจุบันที่ 6-6.5% เป็นเวลา 20 ปี เพื่อช่วยลดภาระค่างวดให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งยังทำ ให้ผู้กู้ไม่ต้องผ่อนชำระหนี้วงเงินสินเชื่อใหม่ตลอดอายุสัญญา ส่งผลต่อขวัญกำลังใจในการทำงานช่วยให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพครูในภาพรวมและคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีหนี้สินครูกว่า 400,000 ราย คิดเป็นวงเงินที่ปล่อยกู้ให้ครู 470,000 ล้านบาท โดยมีหนี้เสียอยู่ 2,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.29% ของสินเชื่อรวม

ทั้งนี้ เชื่อว่าการปรับลดดอกเบี้ยลงจะช่วยส่งผลดีต่อภาระหนี้ได้เฉลี่ยรายละ300,000–600,000บาท ทำให้ลดภาระการผ่อนชำระหนี้เดิมลงเดือนละ 2,000-4,000 บาท โดยเป็นมาตรการภาคสมัครใจไม่บังคับ ซึ่งผู้กู้ที่เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการเลือกใช้หลักประกันโดยเป็นเงินที่ทายาทจะได้รับในอนาคตได้ 2 ทาง คือเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ครอบครัว (ช.พ.ค.) ซึ่งจะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกที่ยังมีชีวิตอยู่ศพละ 1 บาท หากเสียชีวิตจะได้เงินค่าทำศพรวมกว่า 900,000 บาท หรือ เงินบำเหน็จตกทอดซึ่งกรณีบำเหน็จตกทอดต้องการแก้กฎหมายให้สามารถใช้เงินนี้ได้ก่อนที่จะเสียชีวิตแต่หากมีหนี้มากกว่าเงิน ช.พ.ค. หรือ เงินบำเหน็จตกทอด ก็ช่วยลดหนี้ในส่วนเท่าที่มีก่อนและหลังจากนั้นผู้กู้ก็สามารถผ่อนชำระหนี้ที่ยังคงค้างอยู่ได้จนหมด

เข้มปล่อยกู้ใหม่

ขณะเดียวกัน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ หากต้องการกู้เพิ่มก็สามารถทำได้ แต่ธนาคารออมสินมีหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบบัญชีของผู้กู้ว่าผ่อนชำระตรงต่อเวลาหรือไม่ หากเห็นว่าเหมาะสมที่ต้องเข้าให้ความช่วยเหลือรายที่มีความเดือดร้อนจริง ๆ ก็พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้กระทรวงการคลังหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาฯ เพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันปัญหาให้ครอบคลุม โดยตรวจสอบสถานะของผู้กู้ที่เป็นครู และบุคลากรทางการศึกษาก่อนอนุมัติวงเงินสินเชื่อใหม่รวมทั้งยังให้ตรวจสอบถึงสาเหตุว่าครูไม่ใช้หนี้ เพราะไม่สามารถชำระหนี้จริงหรือเปล่า หรือมีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ หากพบว่ามีเจตนาไม่ชำระหนี้จะต้องพิจารณาให้ดำเนินการลงโทษทางวินัยด้วย โดยจะต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความชัดเจนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ธนาคารยังมีข้อเสนอแนะต่อ ครม.ที่กำหนดให้สหกรณ์ออมทรัพย์เข้าเครดิตบูโรเพื่อเป็นการตรวจสอบสถานะการชำระหนี้ของผู้กู้เพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยกู้ของกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ให้มีความมั่นคงมากขึ้นรวมถึงเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สหกรณ์ออมทรัพย์ ที่ให้สิทธิสหกรณ์สามารถหักชำระหนี้ได้เป็นลำดับแรก โดยแก้ไขเป็น หักตามลำดับของวันที่ทำสัญญากู้เงินเพื่อไม่ให้สถาบันการเงินที่เข้ามาช่วยเหลือได้รับผลกระทบจากการก่อหนี้ภายหลัง

หลังจากนี้คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่ามาตรการครั้งนี้จะแก้ไขหนี้สินข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและถาวรหรือไม่ แต่ต้องเข้าใจว่ามาตรการเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากผู้กู้มีความรับผิดชอบในการชำระคืนหรือมีวินัยการใช้เงินไม่เกินตัว ก็เชื่อว่าจะช่วยให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาปลดหนี้ที่มีอยู่ได้อย่างแน่นอน.

โดย วุฒิชัย มั่งคั่ง

 

ที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 

โพสต์เมื่อ 16 ก.พ. 2559 อ่าน 14975 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)