เด็กโอดสอบ 9 วิชาท้อใจคะแนนห่วย



ศธ.มึนหลัง สทศ.ประกาศผลสอบ 9 วิชาสามัญปีแรก เผยเด็กได้คะแนนเฉลี่ยเกินครึ่งแค่ "ภาษาไทย" ขณะที่โซเชียลแทบแตก นักเรียนโอดผลสอบทำท้อใจ

ถือเป็นเรื่องน่าตกใจยิ่งนัก เมื่อสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติได้ประกาศผลสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ปี 2559 ปรากฏว่ามีเด็กนักเรียนสอบได้คะแนนเฉลี่ยเกินครึ่งแค่วิชาภาษาไทยเพียงวิชาเดียวเท่านั้น ส่วนวิชาอื่นพบว่ามีผลสอบจากค่าคะแนนเฉลี่ยไม่ถึง 50% โดยบางรายทำข้อสอบได้ 0 คะแนน ในหลายวิชา

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยถึงผลการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ประจำปีการศึกษา 2559 โดยจัดสอบวันที่ 26-27 ธันวาคม 2558 ซึ่งเป็นคะแนนที่มหาวิทยาลัยจะนำไปใช้ประกอบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อสถาบันอุดมศึกษา ในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮ้าส์ ประจำปีการศึกษา 2559 ว่า สทศ.ได้ดำเนินการตรวจผลคะแนนสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้ประกาศผลการทดสอบก่อนกำหนดจากเดิมวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ตั้งแต่เวลา 22.00 น. ทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th โดยผลการทดสอบวิชาสามัญ 9 วิชา ปีการศึกษา 2559 พบว่า วิชาที่มีผู้ได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน มี 3 วิชา คือ ภาษาไทย คณิตศาสตร์1 ฟิสิกส์ รองลงมาวิชาเคมีและวิชาคณิตศาสตร์2 มีคะแนนสูงสุด 98 คะแนน, วิชาภาษาอังกฤษ มีผู้ได้คะแนนสูงสุด 97.5 คะแนน, วิชาชีววิทยา มีผู้ได้คะแนนสูงสุด 92.5 คะแนน, วิชาสังคมศึกษา มีผู้ได้คะแนนสูงสุด 86 คะแนน, วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป มีผู้ได้คะแนนสูงสุด 74 คะแนน

"สำหรับผลการทดสอบครั้งนี้วิชาที่มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุด และเกินครึ่งจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน มีเพียงวิชาเดียวคือ ภาษาไทย 56.65 ส่วนวิชาที่มีคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดคือคณิตศาสตร์2 20.88 ซึ่งการสอบครั้งนี้มีนักเรียนทำคะแนนได้เต็ม 100 คะแนน ในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์1 และฟิสิกส์ และมีนักเรียนทำคะแนนได้ 0 คะแนน ในวิชาฟิสิกส์ เคมี และคณิตศาสตร์2" ดร.สัมพันธ์ กล่าว

 

ผอ.สทศ.กล่าวต่อว่า สำหรับช่วงคะแนนที่นักเรียนส่วนใหญ่ทำได้ และคะแนนเฉลี่ยในแต่ละวิชาคิดจากคะแนนเต็ม 100 มีดังนี้ ภาษาไทย เข้าสอบ 179,968 คน คะแนนเฉลี่ย 56.65 คะแนนสูงสุด 100.00 ต่ำสุด 6.00 สังคมศึกษา 176,170 คน คะแนนเฉลี่ย 34.96 คะแนนสูงสุด 86.00 ต่ำสุด 2.00, ภาษาอังกฤษ เข้าสอบ 182,588 คน คะแนนเฉลี่ย 30.97 คะแนนสูงสุด 97.50 ต่ำสุด 1.25, คณิตศาสตร์1 เข้าสอบ 136,886 คน คะแนนเฉลี่ย 28.70 คะแนนสูงสุด 100.00 ต่ำสุด 4.00, ฟิสิกส์ เข้าสอบ 104,922 คน คะแนนเฉลี่ย 22.90 คะแนนสูงสุด 100.00 ต่ำสุด 0.00, เคมี เข้าสอบ 100,840 คน คะแนนเฉลี่ย 24.52 คะแนน สูงสุด 98.00 ต่ำสุด 0.00, ชีววิทยา เข้าสอบ 108,138 คน คะแนนเฉลี่ย 27.32 คะแนนสูงสุด 92.50 ต่ำสุด 2.50, คณิตศาสตร์2 เข้าสอบ 29,596 คน คะแนนเฉลี่ย 20.88 คะแนน สูงสุด 98.00 ต่ำสุด 0.00 และวิทยาศาสตร์ทั่วไป เข้าสอบ 37,528 คน คะแนนเฉลี่ย 26.43 คะแนน สูงสุด 74.00 ต่ำสุด 4.00

"สทศ.จะเปิดให้ผู้ที่ต้องการยื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบวิชาสามัญ 9 วิชา ปีการศึกษา 2559 ได้ตั้งแต่วันที่ 8-10 กุมภาพันธ์นี้ เวลา 09.00-16.00 น. โดยต้องยื่นคำร้องด้วยตนเอง หรือผู้แทนยื่นคำร้อง ค่าธรรมเนียมวิชาละ 20 บาทต่อคน ทั้งนี้จะให้บริการดูกระดาษคำตอบในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ หากผู้ยื่นคำร้องไม่มาตามวัน เวลา และสถานที่ที่นัดหมาย ทาง สทศ.จะถือว่าสละสิทธิ์การเข้าดูกระดาษคำตอบ" รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในเรื่องดังกล่าวว่า เท่าที่ดูบอกได้ว่าเห็นภาพความซ้ำซากของปัญหา เพราะที่ผ่านมามีความพยายามในเชิงนโยบายที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษา ทั้งการปฏิรูปการศึกษา การแก้ไขปัญหาการติว หรือการกวดวิชา แต่ยังไม่เกิดผลการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง 2-3 ปีมานี้คงทำให้เห็นแล้วว่า เกิดอะไรขึ้นกับคุณภาพการศึกษา โดยเรื่องดังกล่าวต้องถือเป็นปัญหาระดับประเทศ ถ้าไม่วางแผนหรือนโยบายที่จะแก้ปัญหาให้ชัดเจนก็ไม่มีทางกระเตื้อง

"เรื่องคุณภาพการศึกษาของเด็กนั้น เป็นปัญหาระดับประเทศ ไม่ใช่พอสอบครั้งหนึ่งพบว่ามีปัญหาก็นำมาถกกันปีต่อปี มันไม่มีทางทำให้อะไรกระเตื้องขึ้นได้ ทั้งที่การสอบวิชาสามัญก็ผ่านมา 4-5 ปีแล้วก็เห็นว่า คะแนนไม่ได้ดีขึ้น ทางออกคือ ต้องมาดูว่า การแก้ไขปัญหาคุณภาพของเด็กที่ผ่านมาทำให้เด็กมีความรู้ความสามารถได้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกัน สทศ.ในฐานะผู้ออกข้อสอบต้องวิเคราะห์คุณภาพของข้อสอบด้วยว่าสอดคล้องกับเนื้อหาหลักสูตร ความยากง่ายของข้อสอบที่จะสะท้อนว่าเด็กเรียนเพื่อจดจำนำมาสอบกับข้อสอบที่สะท้อนการคิดวิเคราะห์ไปด้วยกันหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งจะต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจังและต้องมีเจ้าภาพในการดำเนินการ เพราะถ้าปล่อยไว้มีแต่จะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวอีกว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้เข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมกับผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการได้พูดถึงแนวคิดที่จะปฏิรูปการศึกษาและยกระดับคุณภาพการศึกษาในหลายเรื่อง แต่ยังขาดงานวิจัยที่จะมารองรับ จึงต้องการให้ สสค.ไปพิจารณาดูว่า จะดำเนินการอะไรได้บ้าง อย่างไรก็ตาม เรื่องระบบการคัดเลือกนิสิต นักศึกษาที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาระบบกลาง หรือแอดมิชชั่นส์ การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮ้าส์ และการรับตรงแบบปกติโดยมหาวิทยาลัยก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ รมว.ศึกษาธิการระบุว่ากำลังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียด

ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่เห็นรายละเอียดการประกาศผลสอบ 9 วิชาสามัญ แต่ทุกวันนี้การสอบของเด็กเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยมีหลากหลาย ทั้งการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ซึ่งเฉพาะโอเน็ตเด็ก ป.6 ม.6 ทุกคนต้องเข้าสอบ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พยายามพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนเข้มข้นขึ้น เพราะมีเป้าหมายให้ยกระดับคะแนนผลโอเน็ต แต่อยากให้เข้าใจว่า เด็กแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน จึงไม่อยากให้มองว่าคุณภาพของ เด็กตกต่ำ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการเข้าตรวจสอบความคิดเห็นของนักเรียนหลังทราบผลการสอบ 9 วิชาสามัญในโลกออนไลน์ พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นในทำนองที่ได้รับคะแนนค่อนข้างน้อย อาทิ ในเว็บไซต์ www.Dek-D.com

แสดงความคิดเห็นว่า "ห่วยจัด 2 วิชาหลัง นี่แบบรากหญ้า ใครให้น้อยกว่านี้ไหมครับ???" "ท้อแท้เลยครับ" "คะแนนน่ารักเหมือนหน้าตาเลย" "ดูได้แล้ว คะแนนน้อยก็ไม่แปลกหรอก ทำไม่ทันสักวิชา" "เปิดดูปุ๊บ....คลุมโปงร้องไห้แป๊บ" "20 กว่า 30 กว่าคืออะไร เกษตรศาสตร์เราลาก่อนนะ" "แน่ใจเหรอว่าคะแนน#ร้องไห้หนักมาก" "เศษเลขชัดๆ55555555" "วิชาที่คิดว่าจะได้เยอะก็กลายเป็นได้น้อยจนน่าตกใจ ทำใจไม่ได้" "คะแนนนี่ ไม่ได้ครึ่งนึงของหน้าตาเลยค่ะ"

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก 

โพสต์เมื่อ 9 ก.พ. 2559 อ่าน 6828 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 185]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2699]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1074]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5546]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2416]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)