สกู๊ปพิเศษ: การศึกษา(ไทย)เป็นโรค"สำลักน้ำลาย"ร่างกายจึงไม่เจริญเติบโตเสียที



#showpic

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่ผ่านมา สำนักงานเลขาธิการ สภาการศึกษา(สกศ.) ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง "การ จัดทำกรอบแนวคิดของแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564)"โดยมี ผู้แทนของสำนักงานศึกษาธิการภาค, ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถม, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยม, ผู้แทนหน่วยงานจัดการศึกษา และ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุมหารือทิศทาง การขับเคลื่อนการวางกรอบแนวคิดของ แผนอย่างเป็นเอกภาพเชื่อมโยงทุกภาคส่วนและมีความเข้าใจ ที่ตรงกัน เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม

ในห้องประชุม เจ้าภาพคือ สกศ. ได้เปิดการสังเคราะห์ข้อมูลการศึกษาอย่างรอบด้าน นับจำนวน ประเด็นข้อมูลที่เสนอเพื่อให้นำไปพัฒนาได้มากมายถึง 10 ประเด็น สำหรับนำไปใช้ ในการวางกรอบทิศทางแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มีความสอดคล้องกับกรอบทิศทางแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 15 ปี (พ.ศ.2560-2574) ที่กำลังดำเนินการคู่ขนานกัน รวมทั้งสอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และยุทธศาสตร์ประเทศระยะ 20 ปี

เรียกว่าภายในห้องประชุม ต้องใช้เวลาในการนั่งฟังกัน ด้วยระยะเวลายาวนาน ท่ามกลาง ความในใจของคนแต่ละคนที่ "ไม่รู้ว่าคิดอะไรกันบ้างในใจ" เนื่องจากหลายสิ่งหลายอย่าง ล้วนแต่เป็นของเก่า และแนวทางที่เคยพูดกันมาแล้ว ทับซ้อน กันมาไม่รู้กี่สมัยต่อกี่สมัยแล้ว โดยไม่มีใครพูดถึงการ ปฏิบัติกับสิ่งที่มีอยู่กันเลย ทุกอย่างมุ่งไปสู่การแสดงโวหาร ให้ฟัง ในลักษณะที่เกิดภาวะ "น้ำลายกระเซ็นเต็มห้องไปหมด"

น่าจะมีความคิดในใจของผู้นั่งฟังที่เป็นพหูพจน์ (ไม่น้อยกว่าสองคน) ที่กำลังคิดว่า "เก่งแต่พูด แต่ไม่เคย มีใครเอาใจใส่ต่อการนำไปปฏิบัติ" และอีกหลายคนอาจคิด ในใจต่อเนื่องกันอีกว่า หากสิ่งที่เคยตั้งกรอบ หรือ วางกรอบเอาไว้ในอดีต ถ้ามีใครนำเอาไปปฏิบัติอย่างเป็น รูปธรรม การพัฒนาหรือการปฏิรูปการศึกษาคงจะก้าวขึ้นฝั่งไปนานแล้วไม่ใช่อยู่ในสภาวะ พายเรือในอ่าง ที่วิ่งวนอยู่รอบๆ อ่างตลอดเวลา

ผลจากการเสียสละเวลามานั่งพูดนั่งคุยกัน "น้ำลาย กระจาย" ทำให้ได้ข้อมูลที่เป็น "ตัวอักษร" ออกมา 10 ประการมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1.รัฐมีหน้าที่จัดการให้พลเมืองทุกคนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถพัฒนาขีดความสามารถที่มีอยู่ในตัวตนของแต่ละบุคคลให้เต็มตามศักยภาพ 2.รัฐจะประกันโอกาสและความ สามารถในการเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพและ มาตรฐานตามศักยภาพและความสามารถของแต่ละบุคคล 3.รัฐต้องแยกอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบให้ชัดเจน และมีความเป็นอิสระต่อกันในฐานะผู้กำกับนโยบาย และแผน ผู้กำกับการศึกษา ผู้ประเมินผล การศึกษา ผู้ส่งเสริม สนับสนุน และผู้จัดการศึกษา เพื่อมิให้เกิดการขัดกัน ซึ่งผลประโยชน์ 4.รัฐพึงปฏิบัติต่อ สถานศึกษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งสถานศึกษาของรัฐ องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น เอกชน สถานประกอบการ องค์กรเอกชน มูลนิธิ ฯลฯ 5.ทุกภาคส่วนของสังคมต้องมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการได้รับการศึกษาของพลเมืองผ่านการเสียภาษีตามหลักความสามารถในการจ่าย 6.สถานศึกษาต้องแสดงความรับผิดชอบต่อคุณภาพและมาตรฐานของบริการการศึกษา ที่ให้แก่ ผู้เรียนในทุกระบบการศึกษา 7.ความ ยั่งยืนและการดำรงอยู่ของสถานศึกษา อยู่ภายใต้ระบบการแข่งขัน อย่างเป็น ธรรมที่กำกับของรัฐ เพื่อให้การศึกษา มีคุณภาพมาตรฐาน ประสิทธิภาพและ ประสิทธิผล 8.รัฐจะกำหนดกรอบทิศทางการพัฒนากำลังคนจำแนกตามระดับ ประเภทการศึกษา คณะ สาขาวิชา ที่สนองความต้องการของตลาดแรงงานและการพัฒนาประเทศ 9.การจัดหลักสูตร การเรียนการสอนของการศึกษาทุกระบบต้องเป็นไปเพื่อสร้างคุณลักษณะนิสัย พฤติกรรมที่พึงประสงค์ ทักษะการ เรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และ 10.หลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนของสถาน ศึกษาต้องมีความยืดหยุ่นหลากหลาย สนองความต้องการของผู้เรียนทั้งผู้ที่อยู่ ในวัยเรียน และผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน โดยไม่จำกัดเวลา สถานที่

ถ้าคนที่ได้รับรู้สาระสำคัญทั้ง 10 ประการนี้ ไม่เป็นโรคอัลไซเมอร์ ก็คงจะบอกได้ว่าสาระทั้งหมด คือ ข้อมูลที่ถูกจัดวางเอาไว้ไม่รู้กี่สิบปีมาแล้ว เพียงแต่ว่าอักษรที่นำมากล่าวใหม่ มีการจัดสร้างคำให้ทันกับยุคสมัย หรือไม่ก็เพื่อแสดง "การใช้ภาษา" ที่สละสลวยขึ้นเท่านั้น เนื้อหาหรือแก่นแท้ๆ นั้น ก็สิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว นั่นแหละถ้าเรามีคนเก่งปฏิบัติมากกว่า เก่งพูด การศึกษา(ไทย) ได้รับการปฏิรูปไปนานแล้วไม่น้อยกว่า สิบปี

และหากใครจะหลับตามองภาพที่จะเกิดนับแต่วันพรุ่งนี้ (คือเสร็จจากการประชุมในวันนี้แล้ว) เราก็จะได้ความเป็นรูปธรรมออกมา ดังนี้ 1.เกิดการปฏิบัติด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการ หรือ อนุกรรมการขึ้นมาอย่างเร่งด่วน เด็กใคร เด็กมัน แล้วก็นั่งกินเงินเดือน จนกว่า จะมีการประชุมจัดการปฏิรูปกันอีก ครั้งหนึ่ง 2.เมื่อออกจากการประชุม ไปแล้ว หลายคนก็พากันไปทำธุรกิจ ของตัวเอง ถือว่าภารกิจทางราชการ ที่ต้องมาเข้าร่วมประชุมเสร็จสิ้นไปแล้ว และ 3.อีกหลายหน่วยงานจะเกิดอาการ เอือมระอาต่อการทำงานขององค์กร การศึกษาไทย ที่ชอบพูดมากกว่าชอบทำ

สุดท้ายก่อนปิดการประชุม ผู้เป็นประธานการประชุมก็จะสรุปด้วย ใจความที่เป็นเกณฑ์มาตรฐานของการประชุม ว่า เราจะนำแนวคิดที่เป็นส่วนร่วมของทุกคนนำไปสู่การจัดทำร่างแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และจัดรับฟังความคิดเห็นทั้ง 4 ภูมิภาค ต่อไป...สุดท้ายก็ได้กระดาษมาหลายแผ่นจากการประชุม

ความหวัง คือสิ่งเดียวที่ คนไทยมีอยู่ แม้จะผิดหวังซ้ำแล้ว ซ้ำเล่ามาไม่รู้กี่ครั้ง แต่พวกเขาต่าง ก็หวังว่า "ครั้งนี้คงไม่เหมือน ครั้งก่อน" เป็นการให้โอกาสด้วยการ เอาเวลามาเป็นทางออก โดยคิดว่า คนไทยลืมง่าย โดยพวกเขา ไม่เคยคิดกัน บ้างเลยว่า การพัฒนาหรือการปฏิรูป การศึกษาของไทยที่ไม่เคยเป็นไป อย่างที่หวัง นั่นเป็นเพราะการศึกษาไทย กำลังเป็นโรคสำลักน้ำลายจากคนบ้าน้ำลายที่ชอบพูดมากกว่าชอบทำ

ถ้าผู้นำประเทศ ไม่แก้ไข โรคสำลักน้ำลายให้หายจากคนทำงาน ที่บ้าน้ำลายเสียก่อน ต่อให้มีผู้กล้า ที่ยอมเสี่ยงมาปฏิรูปประเทศ อีกสักกี่คนก็ไม่มีวันปฏิรูปประเทศ ได้หรอก 

 

ที่มา แนวหน้า วันที่ 25 มกราคม 2559

โพสต์เมื่อ 25 ม.ค. 2559 อ่าน 7550 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2724]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1086]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5671]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2436]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)