เปิดโครงการ "มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย 2559"



สวทช.ร่วมกับสสวท.สถาบันคีนัน 8 มหาวิทยาลัยเครือข่ายและเชฟรอน จัดกิจกรรมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย 2559 หวังสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนสนใจวิทย์ พร้อมขยายสู่จังหวัดต่าง ๆทั่วประเทศในปีหน้า

วันพฤหัสที่ 14 มกราคม 2559 เวลา 14:00 น. วันนี้(14 มกราคม 2559)ที่อาคารมหามงกุฎคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้การสนับสนุนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.)สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) สถาบันคีนันแห่งเอเซียและมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ 8 แห่ง จัดโครงการ“มหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย” ประจำปี 2559 ขึ้น โดยมีคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นประธานเปิดงาน

คุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาให้กับเยาวชนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม ถือเป็นวาระแห่งชาติ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องได้รับการผลักดันทั้งระบบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้พร้อมรับกับการพัฒนาประเทศในหลายๆด้านที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างสูงส่งผลให้ความต้องการบุคลากรในสาขาสะเต็มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้โครงการ ‘มหาวิทยาลัยเด็ก”จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนีก่อนขยายผลไปยังประเทศต่าง ๆ ซึ่งโครงการ‘ “มหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย” จัดตั้งขึ้นในปี 2554 ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ภายหลังจากที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมโครงการนี้ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีวัตถุประสงเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้ได้รับแรงบันดาลใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์

นางดวงสมร คล่องสารา ประธานคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการมหาวิทยาลัยเด็กประเทศไทย ปรับปรุงหลักสูตรจากกิจกรรมต้นแบบของประเทศเยอรมนี ให้เข้ากับประเทศไทยโดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำ (hands-on) กิจกรรมทดลองที่ท้าทายและน่าสนใจในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์โดยมีอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัย เป็นวิทยากรและมีพี่เลี้ยงที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น นักศึกษาระดับปริญญาตรี โทและเอก คอยให้คำแนะนำและกระตุ้นกระบวนการคิดและการเรียนรู้ โดยพบว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กๆได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่การสังเกต การตั้งคำถามและค้นหาคำตอบได้อย่างสนุกสนานและมีความสุขเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์

สำหรับโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย 2559 ที่จัดขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘สนุกวิทย์ ปลูกแนวคิดวิทยาศาสตร์สู่เยาวชน’ โดยมีเยาวชนระดับประถมศึกษาตอนปลายและมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 3 พันคน มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขาจำนวน32 ฐานกิจกรรม

ด้านศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุลอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยมาตั้งแต่ต้น โดยทางมหาวิทยาลัยเน้นรับเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ขาดโอกาสโดยเราให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมทั้งในเรื่องของบุคลากร สถานที่เครื่องมือและอุปกรณ์การทดลอง รวมถึงการเดินทางของนักเรียนและอื่นๆ เพื่อให้เด็กๆเหล่านี้ได้มีโอกาสในการเรียนรู้และสนุกกับวิทยาศาสตร์ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิดเกิดความรักและความสนใจที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและประกอบอาชีพนี้ต่อไปในอนาคตในส่วนของกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ในปีนี้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยินดีที่ได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ซึ่งแสดงถึงพลังความร่วมมือของทุกหน่วยงานในการร่วมกันส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ส่วนนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัดกล่าวว่า เชฟรอนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาสะเต็มซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ การสนับสนุนโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ‘ EnjoyScience: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการศึกษาในสาขาสะเต็ม โดยเชฟรอนประเทศไทยได้สนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านบาท ในการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทยและจะทำงานร่วมกันเพื่อขยายขอบข่ายการดำเนินงานไปสู่จังหวัดอื่นๆโดยจะเน้นความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาพันธมิตรภายใต้โครงการ EnjoyScience ในจังหวัดต่างๆ คาดว่าจะมีมหาลัยวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก10 แห่ง และสามารถจัดกิจกรรมให้นักเรียนได้กว่า 10,000 คน ทั่วประเทศ ภายในปี 2560

อย่างไรก็ดีในปี 2559 มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการฯจะมีการจัดกิจกรรมมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย ตลอดทั้งปี โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารการจัดกิจกรรมได้ที่เวบไซต์ www.childrensuniversity.in.th

 

ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 มกราคม 2559

โพสต์เมื่อ 15 ม.ค. 2559 อ่าน 4299 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)