ส่อง "ลดเวลาเรียน" 2 เดือน เจอปัญหาสารพัด?!?



คอลัมน์ คลื่นคิดคลื่นข่าว
โดย ขติยา มหาสินธ์


วันที่ 2 มกราคม 2559 นับเป็นเวลา 2 เดือนเต็มที่โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวน 3,831 แห่ง นำร่องกิจกรรม "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ตามนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ซึ่งดีเดย์ไปเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2558 โดยโรงเรียนปรับลดเวลาเรียนวิชาการในชั้นเรียนให้ถึงเวลาประมาณ 14.00 น. 

จากนั้นจัดกิจกรรมพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย ภายใต้ธีม 4H Head (สมอง) Heart (จิตใจ) Hands (ลงมือปฏิบัติ) และ Health (สุขภาพ) โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดสรร 300 เมนู จาก 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ กิจกรรมเสรี กิจกรรมสอนอาชีพ และกิจกรรมสอนเสริมวิชาการ มาให้โรงเรียนนำไปปรับใช้ตามบริบทของแต่ละโรงเรียน

ช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังเริ่มกิจกรรม สพฐ.สรุปผลการดำเนินงานและรายงานต่อ พล.อ.ดาว์พงษ์ โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ให้คะแนนความพึงพอใจ 75% ท่ามกลางความกังขาของนักวิชาการที่หวั่นว่าอาจจะเร็วเกินไปหรือไม่ที่จะประเมินความพึงพอใจ

ล่าสุด นายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร ผู้ตรวจราชการ ศธ. ได้ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ติดตามผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา และรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการ ศธ. โดยพบว่าภาพรวมครูส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจและไม่ถนัดออกแบบกิจกรรมที่เชื่อมโยงหลักสูตรสู่การปฏิบัติในช่วงเพิ่มเวลารู้โดยเฉพาะด้านการคิดวิเคราะห์บางคนไม่สามารถควบคุมกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายคนได้อย่างเหมาะสม 

#showads

โรงเรียนบางแห่งนำกิจกรรมปกติที่เคยทำอยู่แล้วอาทิแกะสลักผัก งานประดิษฐ์ ฯลฯ มาจัดการเรียนการสอนในช่วงเวลากิจกรรม โดยไม่ได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ซึ่งอาจทำให้การดำเนินการไม่บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้

"จากการสอบถามยังพบว่า ผู้บริหารโรงเรียนต้องชี้แจงสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ครูหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เข้าใจเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นนโยบายใหม่ โรงเรียนหลายแห่งดำเนินโครงการโดยไม่มั่นใจผลลัพธ์เท่าที่ควร ไม่มีความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ 

ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียน ครูและผู้ปกครองหลายแห่งยังกังวลเรื่องการสอนตามสาระวิชาหลัก เกรงว่าเด็กจะได้รับความรู้ไม่ครบตามหลักสูตร ทำให้ผลการเรียนลดลง โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา ที่ครูเองมีภาระงานและกิจกรรมอื่นๆ ทั้งที่ได้รับจากส่วนกลางหรือหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเบียดบังเวลาสอนอยู่ก่อนแล้วจำนวนมาก ทำให้ครูบางส่วนคิดว่าเป็นการเพิ่มภาระงานให้กับตัวเอง" 

ไม่ต่างจากโรงเรียนขยายโอกาส ต้องปรับเวลาเรียนให้เร็วขึ้น ทำให้เด็กบางส่วนซึ่งอยู่ไกลมาเรียนไม่ทันเวลา หรือบางแห่งจัดตารางเวลาเรียนเกินเข้าไปในเวลาทานอาหารกลางวัน ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กได้รับค่าวัสดุ อุปกรณ์ ในการจัดกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ไม่เพียงพอ ต้องขอรับสนับสนุนจากผู้ปกครองนักเรียน วัด องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และชุมชน

ปัญหาในทางปฏิบัติดังกล่าว สะท้อนว่าโรงเรียนยังต้องอาศัยเวลาในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับครูและผู้ปกครองนักเรียนอีกมากถ้าต้องการให้บรรลุตามเป้าหมายของรัฐบาลขณะที่รัฐมนตรีว่าการศธ.ตั้งเป้าที่จะขยายนโยบายนี้เป็น10,669โรงเรียนในปีการศึกษา 2559 และครอบคลุมทั่วประเทศในปีการศึกษา 2560 ซึ่งเป็นโจทย์หินสำหรับ สพฐ.ว่าจะขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างไรให้สัมฤทธิผล 

ต้องติดตามต่อไปว่าในปีการศึกษา 2559 สพฐ.จะปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อให้นโยบายดีๆ อย่างนี้ เป็นรูปธรรมและประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน
 

 

โพสต์เมื่อ 2 ม.ค. 2559 อ่าน 11008 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2730]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1089]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5687]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2438]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)