"หมอธี"แนะเรียนEP/MEP เด็กกล้าพูด-ครูได้มาตรฐาน



#showpic

“อย่าเห็นภาษาอังกฤษเป็นเรื่องยาก เพราะแม้แต่ผมโตมาจากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ก็ยังเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาอังกฤษจนสามารถสื่อสารได้ หรือแม้แต่โทนี่ จา (จา พนม) นักแสดงที่มีชื่อเสียงของไทยที่ไม่สามารถพูดอังกฤษได้ แต่เมื่อเรียนเพียง 1-2 ปี ก็สามารถให้สัมภาษณ์ฮอลลีวู้ดเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่อง”

“หมอธี” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการจัดการเรียนการสอน ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นภาษาอังกฤษ (English Program และ Mini English Program : EP/MEP) ของโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 23 (สพม.23) เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2558

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ต้องการมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ในการจัดการเรียนการสอน EP/MEP ของโรงเรียน เพราะถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ในการยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้มารับฟังรายงานผลการจัดการเรียนการสอนที่สอนโดยครูไทยและครูชาวต่างประเทศ ซึ่งจ้างมาจาก 5 ประเทศคือ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมทั้งครูชาวจีนและเกาหลีที่สอนภาษาดังกล่าว พร้อมทั้งรับฟังการใช้ภาษาอังกฤษจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายที่เรียนในโปรแกรม EP/MEP จำนวน 111 คน แยกเป็น นักเรียนชั้น ม.ต้น 3 ห้องเรียน (89 คน) และ นักเรียนชั้น ม.ปลาย 2 ห้องเรียน (29 คน)

“จากการสอบถามครูชาวต่างประเทศ ผมได้แสดงความห่วงใยในการเรียนการสอน EP เพราะหากเด็กไม่เข้าใจภาษาอังกฤษที่ลึกซึ้งพอ ยิ่งจะทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง โดยเฉพาะวิชาที่มีความยากอยู่แล้ว เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ฯลฯ หากเด็กเข้ามาเรียนในโปรแกรมนี้โดยยังไม่มีความพร้อมด้านภาษาหรือไม่สามารถเข้าใจภาษาอังกฤษที่ดีพอ แต่ปล่อยให้เรียนโดยให้เด็กฟังไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งทำให้เด็กไม่ได้ทั้งภาษาอังกฤษและวิชา ซึ่งทำให้โรงเรียนต้องจัดครูไทยมาสอนอีกรอบ แต่หากเราไปดูต่างประเทศที่เรียน EP จะพบว่าสิ่งที่ต้องเน้นกลับไม่ใช่วิชาต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นจัดการเรียนการสอนมากกว่าปกติคือภาษาอังกฤษ ดังนั้นแนวคิดที่หวังจะใช้ “วิชา” เป็นตัวถ่ายทอด “ภาษาอังกฤษ” ก็จะทำให้ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้งคู่”

นพ.ธีระเกียรติ ได้ฝากข้อคิดว่าเราต้องการจะสอนโดยเน้นไปที่คุณภาพหรือจะทำในรูปแบบแบบเดิมๆ เพราะหากเราต้องการให้ EP ประสบความสำเร็จดังที่มุ่งหมายจริงๆ ควรจะต้องมีการทบทวนวิธีการสอน หรือจัดครูที่ได้มาตรฐาน หรือนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยสอน มิฉะนั้นจะเป็นการหลอกผู้ปกครองให้เข้ามาเรียนด้วยความหวัง เพราะหากเรียนสำเร็จหลักสูตร EP แต่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์

ไม่เพียงเท่านั้น การเรียนการสอน EP จำเป็นต้องฝึกให้นักเรียนกล้าพูด กล้าแสดงออก เพราะปัญหาคือเด็กไทยจำนวนมากยังไม่กล้าตอบหรือสนทนา เพราะเด็กยังห่วงที่จะรักษาหน้าตัวเอง กลัวผิด หรืออายเพื่อน ทั้งที่การใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ดี จำเป็นต้องฝึกด้วยตนเอง ไม่มีทางลัด (Shortcuts) ใดๆ ที่จะทำให้พูดได้..

"และอย่าเห็นภาษาอังกฤษเป็นเรื่องยาก เพราะแม้แต่ผมโตมาจากโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ก็ยังเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาอังกฤษจนสามารถสื่อสารได้ หรือแม้แต่โทนี่ จา (จา พนม) นักแสดงที่มีชื่อเสียงของไทยที่ไม่สามารถพูดอังกฤษได้ แต่เมื่อเรียนเพียง 1-2 ปี ก็สามารถให้สัมภาษณ์ฮอลลีวู้ดเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างคล่อง

ผมพอใจในการเรียนการสอนและความตั้งใจของครูทุกท่านในโรงเรียนนี้ ฝากว่าหากโรงเรียนที่มีความพร้อมทั้งงบประมาณ การเปิดหลักสูตร และมีครูชาวต่างชาติ เข้ามาช่วยสอนแล้วยังไม่สำเร็จ ยิ่งจะทำให้โรงเรียนอื่นที่มีความพร้อมน้อยกว่า จะยิ่งมองไม่เห็นความสำเร็จในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ จึงเป็นกำลังใจให้ และพร้อมจะให้การสนับสนุนต่อไป” นพ.ธีระเกียรติ ฝากทิ้งท้าย

 

ที่มา คมชัดลึก วันที่ 14 ธันวาคม 2558 

โพสต์เมื่อ 14 ธ.ค. 2558 อ่าน 8926 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1085]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5644]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2428]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)