วินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา



#showpic

คอลัมน์: สถานีก.ค.ศ.: วินัยข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา

พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 หมวด 6 ได้กำหนดวินัยและการรักษาวินัยของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไว้ เพื่อให้ทราบถึงข้อห้ามและข้อปฏิบัติต่างๆ สัปดาห์นี้จะนำเรื่องความผิดวินัยเกี่ยวกับการเงินและบัญชี ที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ควรปฏิบัติ มาให้ความรู้ ดังนี้

เรื่องมีอยู่ว่า นายเฉลิม (นามสมมุติ) ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ได้ทำเรื่องขอยืมเงินทดรองราชการ และอนุมัติการยืมเงินด้วยตนเอง ทำการเบิกถอนเงินงบประมาณของโรงเรียนออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีแผนงานหรือโครงการรองรับ จำนวน 24 สัญญา รวมเป็นเงิน ทั้งสิ้น 840,261 บาท บางวันยืมต่อเนื่อง ในวันเดียวกันถึง 6 สัญญา ทั้งที่เจ้าหน้าที่การเงินทักท้วงแล้ว แต่นายเฉลิมก็ยังอนุมัติเงินยืมให้กับตนเองอีก และเมื่อยืมไปแล้วก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่านายเฉลิมได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวไปใช้จ่ายในโครงการหรือแผนงานใดของโรงเรียน บางครั้งมีการจัดทำโครงการใหม่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับแผนงานหรือโครงการของโรงเรียน การยืมเงินทดรองราชการดังกล่าวของนายเฉลิมจึงไม่โปร่งใส เนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนดำเนินการเองทั้งหมด เจ้าหน้าที่การเงินก็จะต้องทำตามที่ผู้บริหารโรงเรียนสั่งการ ซึ่งเมื่อยืมเงินทดรองราชการไปแล้ว เมื่อถึงกำหนดการส่งใช้เงินยืมหรือส่งเอกสารหลักฐานเพื่อล้างหนี้เงินยืม นายเฉลิมกลับไม่ดำเนินการใดๆ แต่ยังคงทำสัญญายืมเงินและอนุมัติเงินยืมให้กับตนเองอีก ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าตามสัญญายืมเงิน โรงเรียนได้จัดกิจกรรมซ้อนกันในวันเดียวถึง 6 กิจกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงนายเฉลิมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยนายเฉลิมรับสารภาพว่าได้กระทำการเช่นนี้จริง และต่อมาได้ทยอยนำเงินมาคืนให้กับทางราชการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้นำเรื่องนี้เสนอต่อ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา เพื่อพิจารณาดำเนินการทางวินัยแก่นายเฉลิม ซึ่ง อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาได้พิจารณาแล้ว เห็นว่านายเฉลิมกระทำผิดวินัยตามมาตรา 84 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กรณีปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มีควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จึงมีมติให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนนายเฉลิม 1 ขั้น และรายงาน ก.ค.ศ. เพื่อพิจารณา

สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้นำเรื่องนี้เสนอต่อ อ.ก.ค.ศ.วิสามัญเกี่ยวกับวินัยและการออกจากราชการ (ซึ่งทำการแทน ก.ค.ศ.) พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของนายเฉลิมเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 84 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ตามที่ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา มีมติให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือนนายเฉลิม 1 ขั้น นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งความผิดวินัยอย่างร้ายแรงมีโทษปลดออกหรือไล่ออก ที่ประชุมจึงมีมติให้ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งเพิ่มโทษนายเฉลิม จากโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นโทษไล่ออกจากราชการ ให้ถูกต้องตามกฎหมายและเหมาะสมกับกรณีความผิดต่อไป

จากกรณีที่นำมาให้ความรู้ในวันนี้ หวังว่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่ให้ประพฤติผิดวินัยได้เป็นอย่างดี ที่จะไม่หลงกระทำผิดให้เสื่อมเสียเกียรติยศศักดิ์ศรีความเป็นข้าราชการ แล้วพบกันอีกครั้งในสัปดาห์หน้า

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
 

โพสต์เมื่อ 30 พ.ย. 2558 อ่าน 17165 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 192]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2712]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1082]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5633]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2427]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)