“การศึกษา-วินัย” ต้นตอแห่งปัญหา



“การศึกษา” และความมี “วินัย” น่าจะเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ที่จะต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนประเทศเดินหน้า

ต่อไปได้ แม้ว่าวันนี้ประชาชนจะมีความตื่นตัวตื่นรู้ด้านการเมืองมากกว่าที่ผ่านมาก็ตาม

แต่นั่นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากถ้าประชาชนของประเทศยังขาดการศึกษา หรือได้รับการศึกษาไม่ทั่วถึงก็คงจะเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่

เท่าที่รับฟังความเห็นของคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. แล้วได้มีข้อสรุปว่า แม้จะร่างรัฐธรรมนูญออกมาดีอย่างไร เช่น ว่าการหาวิธีที่จะทำให้แก้ไขปัญหาการเมืองได้ แก้ปัญหาทุจริตได้ ทว่าประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างแท้จริง

ดียังไงก็ไปไม่รอดเหมือนที่ผ่านๆมา

จึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาให้ได้ก่อนที่จะไปถึงการเลือกตั้ง แม้ว่าจะต้องใช้เวลา แต่ก็ต้องกำหนดกรอบความชัดเจน โดยเฉพาะการกำหนดเอาไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อจะทำให้การปฏิบัติเป็นอย่างรูปธรรมและต่อเนื่อง

ดังนั้น สปท. จึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ และกำหนดในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ใช่มีเพียงแค่เขียนเอาไว้ในกระดาษเท่านั้น

ที่ผ่านมาแม้จะพูดกันอยู่เสมอว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นอนาคตของชาติ แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้ประเทศไทย หรือทุกรัฐบาลที่เล็งเห็นความสำคัญให้งบประมาณมากที่สุด

แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับกลายเป็นว่า กระทรวงศึกษาฯแทนที่จะจัดอยู่ระดับกระทรวงเกรดเอ กลับเป็นกระทรวงเกรดซี เอาใครก็ไม่รู้ไปเป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบเพื่อตอบแทนทางการเมืองเท่านั้น

บางรัฐบาลเปลี่ยนรัฐมนตรีกันเป็นว่าเล่น

แม้แต่การอ้างว่าเพื่อเป็นการกระจายอำนาจด้วยการตั้ง ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งดูเหมือนจะดีแต่ความจริงแล้วแทบจะไม่มีประโยชน์อันใด เป็นการเพิ่มตำแหน่งเพิ่มอัตราที่ไม่ได้ช่วยให้การศึกษาดีขึ้นมาเลย

เอาเข้าจริงกลายเป็น “หัวคะแนน” ของพรรคการเมืองไปเสียฉิบ

บรรดาครูบาอาจารย์แทนที่จะมุ่งไปที่การเรียนการสอนกลับวิ่งเต้นเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งเหล่านี้ คือ มุ่งจะเป็นผู้บริหารมากกว่าการทำหน้าที่ “ครู” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ

ดังนั้น แนวคิดที่จะสร้างกลไกบังคับเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาเสร็จก่อนการเลือกตั้ง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

เพื่อเป็นการวางรากฐานไปสู่อนาคตของประเทศ เพราะพื้นฐานทั้งหมดอยู่ที่ระบบการศึกษาเป็นสำคัญ

ประเทศที่พัฒนาแล้วที่เห็นชัดๆ คือ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ถือว่ามาก่อนเรื่องอื่นทั้งหมด ก่อนหน้านี้ประเทศเหล่านี้เป็นอย่างไร แต่เมื่อให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นเบื้องต้นประเทศเขาก็พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยทีเดียว

คือเจริญก้าวหน้าจากล้าหลังกลายเป็นประเทศพัฒนาขึ้นมาภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่ประเทศไทยกลับตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

อีกประเด็นที่ว่ากันด้วยความเป็นประชาธิปไตยให้สิทธิเสรีภาพกันอย่างเต็มที่อย่างที่คนไทยพยายามเรียกร้อง และแสวงหาทั้งๆที่มีอยู่แล้ว

แต่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพที่ขาดวินัยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของผู้อื่น ไม่ได้คิดถึงประเทศชาติ และคนส่วนใหญ่เป็นหลักแล้วมันก็ไปไม่รอด

สิ่งที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง จึงต้องมองถึงความจริงในเรื่องการศึกษาและความมีวินัยที่จะต้องสร้างขึ้นมาให้ได้

เพราะมันจะเป็นทางออกที่คลำหากันอยู่ในเวลานี้.


“สายล่อฟ้า” 

 

 

ที่มา คอลัมน์ กล้าได้กล้าเสีย หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 16 ตุลาคม 2558

โพสต์เมื่อ 16 ต.ค. 2558 อ่าน 6147 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)