เล็งปรับกระบวนการนิเทศครูฝึกสอนใหม่



รศ.ดร.บัญชา ชลาภิรมย์ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าที่ประชุมสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย กลุ่ม 16 สถาบัน เมื่อเร็วๆ นี้ มีมติให้ปรับเปลี่ยนการนิเทศก์การสอน สร้างระบบกระบวนการนิเทศก์ขึ้นมาใหม่ เพื่อพัฒนาอาจารย์นิเทศก์ให้มีสัดส่วนเพียงพอต่อการไปศึกษานิเทศก์นิสิตนักศึกษาที่ต้องไปฝึกสอนในโรงเรียนต่างๆ เพราะขณะนี้อาจารย์นิเทศก์น้อยมาก เช่น บางสถาบันผลิตครู มีนักศึกษาฝึกสอน 4,000 คน แต่มีอาจารย์นิเทศก์เพียง 100 กว่าคน ทำให้การศึกษานิเทศก์ หรือการลงไปดูการฝึกสอนของนิสิตนักศึกษาเป็นรูปแบบชะโงกดู ปล่อยผ่านไม่ได้ดูคุณภาพการสอนอย่างแท้จริง ทำให้เมื่อนิสิตนักศึกษาฝึกสอนจบออกไปเป็นครูสอนในโรงเรียน ก็เป็นครูที่ไม่มีคุณภาพไปสอนเด็ก เด็กก็จะไม่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จะเป็นผู้ริเริ่มในการนำระบบนิเทศใหม่มาใช้ โดยจะกำหนดว่าอาจารย์นิเทศก์ต้องไปดูอะไรบ้าง และดูอย่างไรให้มีคุณภาพ ควรไปดูกี่ชั่วโมงในหนึ่งภาคการศึกษา และเสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ นอกจากนั้นจะนำอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถแต่เกษียณอายุ หรือศิษย์เก่าของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ มาช่วยเป็นอาจารย์นิเทศก์ รวมถึงอยากให้มีการฝึกสอนแบ่งเป็น 2 คลาส คือ คลาสเอ และคลาสบี เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้ฝึกสอน เรียนรู้บริบทและสร้างบริบทการสอนให้แก่ตนเอง

"สภาคณบดีคณะครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์ มีการหารือถึงแนวทางในการพัฒนาผลิตครูให้มีคุณภาพ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยว่าควรลดปริมาณ เน้นคุณภาพ และมีทิศทางการผลิตครูที่ชัดเจน แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดถึงสัดส่วนกำลังคน ความต้องการครูว่าในแต่ละวิชาต้องการจำนวนเท่าใด สถาบันการผลิตครูจึงผลิตอย่างไรทิศทางเพื่อเอาเงินค่าหัวของผู้เรียน ค่าเล่าเรียนโดยไม่ได้สนใจคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันผู้ใช้ครูควรจะบอกถึงความต้องการครู เพื่อให้สถาบันผลิตครูได้มีแนวทางในการผลิตที่ตอบโจทย์ ลดความขาดแคลน อย่าบอกเพียงแต่จะให้ลดปริมาณแต่ไม่บอกว่าลดจำนวนไหน ลดครูวิชาอะไร" คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวและว่าอยากเสนอให้ ศธ.มีการประเมินครู ถ้าครูจากสถาบันการผลิตครูไหนไม่ผ่าน สถาบันการผลิตครูต้องรับผิดชอบ นำครูเหล่านี้กลับมาผลิตใหม่ ฝึกสอนใหม่จนเกิดคุณภาพ และถ้าทำไม่ได้ก็ถูกแบล็กลิสต์ ลดจำนวนรับนักศึกษา ซึ่งถ้าทำแบบนี้ได้เชื่อว่าคุณภาพครูจะดีขึ้นและจะทำให้ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงเหมือนแพทย์จริงๆ

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

โพสต์เมื่อ 5 ต.ค. 2558 อ่าน 5324 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1085]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5649]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2430]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)