"บิ๊กหนุ่ย"ชวนสนช.ช่วยปรับโครงสร้างบริหารศธ.



สนช.พบ รมว.ศธ. ชง 4 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา ด้าน "ดาว์พงษ์" ชวนไปช่วยวิเคราะห์ ปรับโครงสร้างบริหารจัดการ ศธ.ให้หน่อย

นายตวง อันทะไชย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมคณะ เดินทางเข้าพบ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) โดยนายตวงกล่าวภายหลังการหารือว่า กมธ.การศึกษาฯ ได้เสนอ 4 ยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย ได้แก่ 1.การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาให้เป็นนิติบุคคลโดยสมบูรณ์ 2.การปรับปรุงหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 3.การพัฒนาอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชาติ และ 4.การปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งข้อเสนอส่วนใหญ่ก็สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของ รมว.ศธ. แต่ของ กมธ.การศึกษาฯ มีแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาและประชาชนใน 4 ภูมิภาคมาแล้ว

ตัวแทน สนช.กล่าวอีกว่า กมธ.การศึกษาฯ มีความห่วงใยการดำเนินงานตามนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่ง กมธ.การศึกษาฯ เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่เห็นว่าควรมีการปฏิรูปหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ก่อน มิฉะนั้นจะส่งผลกระทบกับเด็กที่ผู้ปกครองจะต้องไปเร่งกวดวิชา เพราะลำพังใช้เวลาเรียนเท่าที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอ เด็กยังต้องกวดวิชาเพื่อสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต หรือสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย เพราะการออกข้อสอบจะออกตามตัวชี้วัดของหลักสูตร ไม่ใช่ออกตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งการปรับปรุงหลักสูตรสามารถทำได้ทันทีโดยใช้เวลาเพียงแค่ 3 เดือน เนื่องจากที่ผ่านมามีการดำเนินการไว้บ้างแล้ว และเป็นการปรับปรุงไม่ใช่การยกเลิกหลักสูตรแล้วทำขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ.การศึกษาฯ

ด้าน พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า ข้อเสนอของ กมธ.การศึกษาฯ เป็นเรื่องน่าสนใจ ซึ่งตนจะนำมาร่วมกับข้อเสนอของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่เสนอเรื่องปฏิรูปการศึกษาเข้ามา อย่างไรก็ตาม ตนได้ขอให้ กมธ.การศึกษาฯ ไปช่วยวิเคราะห์เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ศธ. เท่าที่พูดคุยกับหลายฝ่ายพบว่าจำเป็นต้องมีการปรับระบบการบริหารให้สามารถขับเคลื่อนงานได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ อาทิ การบริหารงานของ 5 องค์กรหลักใน ศธ. ที่ต่างคนต่างสั่ง และการบริหารงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งมีเขตพื้นที่การศึกษาอยู่ในสังกัดจำนวนมาก จะบริหารจัดการอย่างไร เป็นต้น ดังนั้นอาจมาจะต้องมาทบทวนว่าส่วนใดควรลด หรือควรเพิ่มงานในส่วนใด และหากดูแล้วว่าจำเป็นต้องปรับโครงสร้างก็ต้องปรับ.

 

ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 22 กันยายน 2558 

โพสต์เมื่อ 22 ก.ย. 2558 อ่าน 5516 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2718]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1086]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5662]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2435]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)