ฟันธง "ซุปเปอร์บอร์ด" ต้องนายกฯคุม



ชูโจทย์ปฏิรูปศึกษาเพื่อมีงานทำ ร.ร.พันแห่งพร้อมยกสถานะนิติบุคคล

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการปฏิรูปการศึกษาที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ. ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร และ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศธ. นายตวง อันทะไชย ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ประธาน กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าร่วมว่า ที่ประชุมได้เห็นร่วมกันในการกำหนดแนวทางการปฏิรูปการศึกษาในประเด็นหลัก 4-5 เรื่อง ดังนี้ การเปิดทางให้สถานศึกษามีสถานะเป็นนิติบุคคลอย่างแท้จริง มีอิสระในการบริหารจัดการศึกษาให้แก่เด็กอย่างมีคุณภาพตามหลักธรรมาภิบาลและมีความรับผิดชอบ โดยขณะนี้พบว่ามีสถานศึกษากว่า 1,000 แห่งในทุกประเภทพร้อมยกสถานะเป็นนิติบุคคลเต็มรูปแบบ การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนรายหัว ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยว่าต้นทุนการศึกษาที่รัฐควรจัดสรรให้เด็กแต่ละกลุ่มว่าที่เหมาะสมควรเป็นอัตราเท่าไร อาทิ รายหัวเด็กทั่วไป เด็กในพื้นที่ห่างไกล เด็กยากจน เด็กพิการ การกระจายอำนาจและบทบาทการศึกษาลงไปสู่พื้นที่และดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น ภายใต้โจทย์การศึกษาเพื่อการมีงานทำและพร้อมสู่โลกของงาน

ดร.อมรวิชช์กล่าวอีกว่า อีกประเด็นคือ การจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งรองนายกฯ ได้ยกตัวอย่างเชียงใหม่โมเดล ซึ่งได้พบในการร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ จ.เชียงใหม่พบว่าเป็นเครือข่ายเชิงพื้นที่ที่เข้มแข็งและจะจัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัด โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาบนพื้นฐานวัฒนธรรมเชียงใหม่แต่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับ รมว.ศึกษาธิการได้ยกตัวชลบุรีโมเดล ที่เป็นการร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาในพื้นที่พัฒนาเด็ก ซึ่งเป็นต้นแบบที่จะนำไปศึกษาต่อยอดได้ และเรื่องสุดท้ายที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต้องมีกลไกระดับชาติคือซุปเปอร์บอร์ดเข้ามากำกับดูแลให้การปฏิรูปการศึกษาในระยะยาวเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง และควรประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ ระดับบริหารเพื่อผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติได้ คือ นายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ ส่วนต่อมาคือหน่วยงานด้านความรู้และเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้การสั่งการใดๆก็ตามอยู่ภายใต้การศึกษาวิจัย ส่วนแผนการดำเนินงานแต่ละเรื่อง ทาง สนช.รับไปจัดทำรายละเอียดและนำเสนอที่ประชุมครั้งต่อไป. 

 

ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 9 ก.ค.2558

โพสต์เมื่อ 9 ก.ค. 2558 อ่าน 4252 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 190]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2707]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1081]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5609]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2425]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)