"ยงยุทธ"เล็งปฏิรูปสังคมด้วยการศึกษา



ดึง สสค.นำร่อง 10 จังหวัด จัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ภาคีเชียงใหม่ปฏิรูปการศึกษา ยื่น 7 ข้อเสนอ ต่อ ครม.สังคม "ตั้งสภาการศึกษาจังหวัด-ปรับงบรายหัวผู้เรียน-ระบบการประเมิน ลดเอกสาร-คืนครูอยู่กับเด็ก-ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษา"

ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่แกรนด์วิล จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)เชียงใหม่ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิดเวทีนำเสนอ "แผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่และนโยบายรัฐบาล" เพื่อจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษาของจังหวัดเชียงใหม่ต่อคณะรัฐมนตรีสังคม ที่มาจากการระดมความเห็นของภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และประชาสังคมเข้าร่วมกว่า 350 คน
โดย ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาเพื่อการมีงานทำ เป็นประเด็นที่สำคัญมาก จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ จ.เชียงใหม่ ริเริ่มการจัดการศึกษา เพราะการจัดการศึกษาไม่สามารถเริ่มได้จากส่วนกลาง แต่ต้องเริ่มจากท้องถิ่น ซึ่งการตั้งสภาการศึกษาจังหวัดถือเป็นเรื่องใหม่จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ โดยจะนำข้อเสนอของจังหวัดเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซุปเปอร์บอร์ดการศึกษา ซึ่งการปฏิรูปสังคมด้านการศึกษาเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีงานทำ คณะรัฐมนตรีสังคม จึงมอบหมายให้ สสค.เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนหลัก เพราะเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าหน่วยงานปกติ โดยนำร่องทำงานร่วมกับ 10 จังหวัด ในปีแรกจะเริ่มใน 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ตราดและภูเก็ต ซึ่งจะมีการวิเคราะห์ความต้องการของตลาดแรงงานพร้อมกับการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาทั้งทักษะชีวิตและทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในจังหวัด โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมในกลุ่มนักเรียนตั้งแต่ ม.ต้น รวมทั้งการจัดการศึกษาทางเลือกในระดับ ม.ปลาย ที่เน้นความร่วมมือกับระหว่างสถานศึกษา และสถานประกอบการ รวมถึงการวิจัยด้านการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณที่เหมาะสมเพียงพอ และการวิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพให้ได้ผลมีประสิทธิภาพ


ด้านนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษา จ.เชียงใหม่ว่า เป้าหมายการจัดการศึกษาของ จ.เชียงใหม่ คือการจัดการศึกษาต้องตอบโจทย์การมีงานทำ การสร้างเด็กเยาวชนให้เป็นพลเมืองเชียงใหม่ พัฒนาทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งจากการระดมความเห็นถึงข้อเสนอเชิงนโยบายของภาคีเชียงใหม่เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีสังคมเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 7 ข้อ ดังนี้

1) จัดตั้งสภาการศึกษาจังหวัดเพื่อกระจายอำนาจสู่จังหวัดโดยมีกฎหมายรองรับ
2) ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษา โดยเฉพาะการจัดสรรงบประมาณพัฒนาสถานศึกษาที่เป็นเงินรายหัว
3) ปรับระบบการประเมินนักเรียน ครู สถานศึกษา ตลอดถึงการจัดทำผลงานทางวิชาการให้ประเมินตามจริง ลดการจัดทำเอกสาร
4) สนับสนุนบุคลากรด้านธุรการเพื่อลดภาระงานของครู ให้มีหน้าที่สอนอย่างแท้จริง
5) สนับสนุนการจัดการศึกษาของเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแบ่งเบาภาระการจัดการศึกษาของรัฐบาล
6) จัดสรรงบประมาณอาหารกลางวันให้นักเรียนในระดับชั้น ม.1-3 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ
และ 7) พัฒนาโรงเรียนดี มีคุณภาพ ขยายสู่ทุกพื้นที่ของจังหวัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

 

ที่มา สยามรัฐ

โพสต์เมื่อ 1 ก.ค. 2558 อ่าน 4038 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)