“ออมสิน”อนุมัติหลักการปรับโครงสร้างหนี้ครู



“ออมสิน”อนุมัติหลักการปรับโครงสร้างหนี้ครู

“ออมสิน”อนุมัติหลักการปรับโครงสร้างหนี้สินครู ลูกหนี้ขั้นวิกฤตได้ชะลอฟ้องร้องดำเนินคดี และพักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี ลูกหนี้ใกล้วิกฤติพักจ่ายดอกเบี้ยครึ่งหนึ่งในเวลา 2 ปี ส่วนลูกหนี้ปกติได้พักจ่ายเงินต้นไม่เกิน 2 ปี แต่ทุกกลุ่มมีข้อแม้หากก่อหนี้เพิ่ม ขณะที่ สกสค.ส่อยกเลิกโครงการกู้เงิน ช.พ.ค. 7

วันนี้(25 มิ.ย.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับ รมว.คลัง และ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เพื่อจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการธนาคารออมสินนั้น ขณะนี้ธนาคารออมสินได้อนุมัติเป็นหลักการและได้แจ้งมายังกระทรวงศึกษาธิการแล้ว โดยจะมีการดำเนินการดังนี้ ให้แบ่งลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการครูฯเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1.ลูกหนี้ขั้นวิกฤตรุนแรง คือ ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดี หรือถูกบังคับคดีขาดความสามารถในการชำระหนี้จากสาเหตุที่จำเป็น

2.ลูกหนี้ใกล้วิกฤต คือ ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 12 งวดติดต่อกัน และ

3.ลูกหนี้ปกติ คือ ลูกหนี้ที่ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้และยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า หลังจากแบ่งกลุ่มลูกหนี้ได้แล้วจะมีมาตรการในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยลูกหนี้ขั้นวิกฤตรุนแรงจะได้ 1.ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือบังคับคดีไม่เกิน 3 ปี โดยต้องมีระยะเวลาฟ้องคดีเหลือไม่น้อยกว่า 2 ปี 2.พักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 3 ปี แต่ให้ชำระเงินต้น ส่วนลูกหนี้ใกล้วิกฤตให้พักชำระดอกเบี้ยไม่เกินครึ่งหนึ่งเป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ สำหรับลูกหนี้ปกติให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระดอกเบี้ย ทั้งนี้ลูกหนี้ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 31 ก.ค.นี้ แต่หากลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการไม่ชำระหนี้ตามเงื่อนไข 2 งวดติดต่อกันต้องกลับเข้าสู่เงื่อนไขและมาตรการตามสัญญาเดิม

“มาตรการดังกล่าวยังมีเงื่อนไขประกอบเพิ่มเติม คือ ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ค้ำประกันเงินกู้ และลูกหนี้ต้องยินยอมให้กรมบัญชีกลางหักเงินเดือนชดใช้หนี้ให้ธนาคาร ที่สำคัญลูกหนี้จะต้องไม่สร้างภาระหนี้เพิ่มกับสหกรณ์ออมทรัพย์อีก และต้องให้ความยินยอมในการเปิดเผยข้อมูลของลูกหนี้ที่มีกับสหกรณ์ออมทรัพย์ด้วย อย่างไรก็ตามการปรับโครงสร้างดังกล่าวนี้ได้รับการยินยอมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.)แล้ว และธนาคารออมสินกำลังดำเนินการแจ้งมาตรการให้ สกสค.ทราบเพื่อทำการปรับโครงสร้างหนี้สินครูฯต่อไป” พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวและว่า นอกจากนี้ในการประชุมบอร์ดสกสค.เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการพูดถึงการดำเนินการโครงการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.)7 ซึ่งได้มีการชะลอโครงการไว้แล้ว แต่มีกรรมการบางคนเสนอว่า ควรยกเลิกโครงการ ช.พ.ค. 7 ไปเลย เนื่องจากเห็นว่า ครูสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่นได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่เป็นข้อยุติว่าจะยกเลิกโครงการหรือไม่“

 

 

อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 มิถุนายน 2558

โพสต์เมื่อ 26 มิ.ย. 2558 อ่าน 6745 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2730]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1089]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5690]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2438]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)