ยันประกัน ช.พ.ค. โปร่งใสแจงทุกประเด็นสงสัย-5 ปี จ่ายสินไหม 6.5 พันล.



ทิพยประกันภัย ออกโรงชี้แจงรับทำกรมธรรม์กลุ่มครูโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. หลังรวบรวมประเด็นข้อสงสัยจากหลายฝ่ายถึงความโปร่งใส เผยตลอด 5 ปี บริษัทฯจ่ายค่าสินไหมให้ทายาทสมาชิกไปแล้วเกือบ 6,500 ล้านบาท ยอดครูเสียชีวิตเกือบ 7,000 คน การันตีเบี้ยประกันคิดต่ำกว่าราคาตลาด 15% ยันดำเนินการอย่างถูกต้อง

จากกรณีสมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนสมาชิกครู (ช.พ.ค.) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบโครงการปล่อยกู้ของธนาคารออมสิน และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่รับประกันสินเชื่อกลุ่มครูที่กู้เงินจากโครงการดังกล่าวนั้น

นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด(มหาชน) ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า บริษัทฯได้เข้าไปรับทำประกันกลุ่มครูตามโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ตั้งแต่ 5 ปีแล้ว โดยใช้ชื่อ "กรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย" ซึ่งได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยประกันผู้กู้เงินวงเงินตั้งแต่ 600,000 บาทถึง 3 ล้านบาท คิดเบี้ยประกันเท่ากันทุกกลุ่มอายุ ทุกเพศ ทุกวัย ที่ 620 บาท ต่อวงเงินความคุ้มครอง 100,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาด 15%

สำหรับสาเหตุที่ผู้กู้เงินต้องมีประกัน นายสมพร อธิบายว่า แต่เดิมการขอกู้เงินของธนาคารต้องมีการรวมกลุ่มย่อยเพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน ซึ่งปรากฏว่าหากมีผู้กู้รายใดเสียชีวิตผู้ค้ำประกันไม่ต้องการรับภาระหนี้สินระหว่างกันในกลุ่มย่อย จึงต้องมีระบบประกันภัยเข้ามารองรับ โดยมีวัตถุประสงค์เมื่อผู้กู้เสียชีวิตจะได้ไม่ทิ้งภาระไว้ให้ผู้ค้ำประกันและทายาท การทำประกันจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้กู้ ในการที่จะทำให้ได้รับอนุมัติวงเงินกู้ที่สูงขึ้นได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การทำประกันสินเชื่อเป็นไปตามความสมัครใจของผู้กู้และเป็นไปตามเงื่อนไขการกู้เงิน ซึ่งระบุไว้ในแบบคำขอกู้จากธนาคาร โดยผู้กู้สามารถเลือกที่จะทำประกันหรือไม่ทำประกันก็ได้

ส่วนกรณีจะยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย นายสมพร ระบุว่า สามารถทำได้เช่นกัน แต่เนื่องจากกรมธรรม์เป็นการประกันภัย เพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อที่ผู้เอาประกันเป็นผู้กู้เงิน โดยระบุให้ธนาคารออมสินเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์เป็นลำดับแรก เพื่อวัตถุประสงค์ลดภาระของทายาทของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน การยกเลิกอาจทำให้บุคคลเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนในภายหลังและเงื่อนไขการกู้อาจเปลี่ยนแปลงไป

นายสมพร กล่าวว่า กรมธรรม์ของบริษัทฯมีข้อดีและจุดเด่น ต่างจากบริษัทประกันชีวิตทั่วไปคือ

1.บริษัทจะรับประกันทุกราย

2.ไม่ต้องตรวจสุขภาพ

3.เบี้ยประกันคงที่ ไม่ปรับเพิ่มขึ้นตามอายุ

4.ทุนประกันคงที่ตลอดอายุสัญญา แม้ภาระหนี้ลดลง

5.เบี้ยประกันไม่แยกตามเพศ

6.จ่ายสินไหม 100% กรณีโคม่า และเสียชีวิต และ

7.คุ้มครองถึงอายุ 74 ปี ขณะที่ประกันชีวิตรับอายุไม่เกิน 60 ปีเท่านั้น และบริษัทฯได้ ให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตของผู้ทำประกันกับบริษัทฯ กรณีเกิดจากอุบัติเหตุและเกิดจากสุขภาพ หรือเสียชีวิตจาก 4 โรคร้าย คือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคภาวะโคม่า โรคภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และโรคภาวะสมองตายระบบประสาทล้มเหลว หากผู้กู้เสียชีวิตทางบริษัทฯจะเป็นผู้ชำระหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระกับธนาคารออมสินทั้งหมด หากมีเงินเหลือทางธนาคารออมสินจะส่งคืนให้ทายาท ไม่เป็นภาระให้กับทายาทต่อไป และทำให้ธนาคารไม่มีหนี้เสีย

ส่วนกรณีที่มีข้อซักถามว่าทำไมกรมธรรม์ของผู้กู้ไม่ได้รับนั้น นายสมพร กล่าวว่า เนื่องจากเป็นประกันกลุ่ม บริษัทฯจึงออกกรมธรรม์ 2 ฉบับ ให้ธนาคารออมสินในฐานะเจ้าหนี้เก็บไว้ 1 ฉบับ ให้สำนักงานคณะกรรมการส่ งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) 1 ฉบับ ในฐานะที่ดูแล ช.พ.ค. ส่วนผู้กู้จะออกเป็นใบสรุปเงื่อนไขความคุ้มครองให้ ซึ่งได้แจ้งว่าหากอยากได้กรมธรรม์ฉบับจริงให้แจ้งบริษัทฯ ได้ แต่กรณีการประกันกลุ่มปกติก็จะไม่ออกกรมธรรม์จริงให้ลูกค้าอยู่แล้ว

ส่วนกรณีการเก็บเบี้ยครั้งเดียวล่วงหน้านั้น นายสมพร กล่าวว่า เรื่องนี้สามารถทำได้ตามจำนวนปีที่ขอสินเชื่อ โดยบริษัทประกันชีวิตสามารถเก็บเบี้ยประกันสินเชื่อล่วงหน้าครั้งเดียวได้สูงสุด 30 ปี แต่ในกรณีนี้ทางบริษัทฯได้รับการอนุมัติให้เก็บเบี้ยได้สูงสุดครั้งเดียว 9 ปี หากชำระหนี้ครบก่อน 9 ปี สามารถขอเบี้ยคืนได้ในส่วนที่ชำระไว้เกิน หรือหากชำระหนี้ยังไม่หมดภายใน 9 ปี สามารถต่ออายุได้ แต่ผู้กู้อายุต้องไม่เกิน 74 ปี

" ตั้งแต่บริษัททำประกันดังกล่าว 5 ปีมีสมาชิก ช.พ.ค.ที่ทำประกันภัยเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 7,000 ราย ซึ่งถือว่าเสียชีวิตจำนวนมากเพราะกลุ่มครูที่ทำประกันจะอยู่ในช่วงอายุ 40-60 ปี โดยบริษัทได้จ่ายสินไหมทดแทนออกไปแล้วประมาณ 6,500 ล้านบาท จากเบี้ยที่รับมาประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่เหลืออีก 3,500 ล้านบาท ต้องเก็บไว้เพื่อเตรียมชำระค่าสินไหมตามกรมธรรม์ ถือว่าโครงการนี้ไม่มีกำไรจากการรับประกันแต่จะได้ในส่วนของการเงินก้อนนี้ไปลงทุน"

 


ที่มา-- ทรานสปอร์ต เจอร์นัล ประจำวันที่ 16-30 มิ.ย. 2558 

โพสต์เมื่อ 17 มิ.ย. 2558 อ่าน 6247 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)