ช.พ.ค.ฉาวอีก!ครูร้องดีเอสไอโกงกรมธรรม์



ยิ่งสาวลึก ยิ่งเจอข้อมูล ช.พ.ค.ฉาวอีกครั้ง เมื่อกลุ่มครูร้องดีเอสไอ เรื่องโกงกรมธรรม์ หลังจากครูผู้กู้เงิน ถูกบังคับให้ทำประกันตามโครงการประกันชีวิตพ่วงการกู้เงิน โดยที่ไม่ได้รับกรมธรรม์ ตามที่ครูบ้านนอกได้นำเสนอไปแล้วก่อนหน้านี้

ครั้งนี้มีข่าวล่าสุดว่า กลุ่มครูผู้กู้เงินได้ยื่นหนังสือร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษให้ตรวจ สอบความโปร่งใสของ “โครงการการฌาปนกิจ สงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.)” หลังบังคับครูผู้กู้เงินโครงการทำประกันชีวิตพ่วงโดยไม่ได้รับกรมธรรม์ พอตรวจสอบกลายเป็นการทำประกันอุบัติเหตุเบี้ยประกันต่างกันหลายหมื่นบาท มีผู้เสียหายกว่า 1.5 แสนราย ความเสียหาย 2-4 พันล้านบาท ร้องดีเอสไอ ช.พ.ค.ไม่โปร่งใส โดยเมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 15 พ.ค. ที่ดีเอสไอ นายสงกานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ประธานเครือข่ายต่อต้านการบ่อนทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นำข้าราชการครูประมาณ 30 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ให้ตรวจสอบโครงการการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ร่วมกับธนาคารแห่งหนึ่งแสดงข้อความอันเป็นเท็จปกปิดความจริงที่ควรแจ้ง ฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกงประชาชน

ทั้งนี้ นายสงกานต์กล่าวว่า ได้รับหนังสือร้องเรียนจากข้าราชการครูทั่วประเทศ ให้ช่วยเหลือและตรวจ สอบโครงการ ช.พ.ค. กรณีมีธนาคารแห่งหนึ่งที่เป็นผู้ให้กู้เงินโครงการ ช.พ.ค. บังคับครูผู้กู้ซื้อประกันชีวิตพ่วง ใช้วิธีหักจากยอดเงินที่กู้และไม่ได้รับกรมธรรม์ใดๆกลับมาเป็นหลักฐาน เมื่อตรวจสอบไปที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กลับได้รับคำตอบว่าธนาคารดังกล่าวกับบริษัทประกันแห่งหนึ่งได้ทำเพียงประกันอุบัติเหตุไม่ใช่ประกันชีวิตตามที่แจ้งกับครูผู้กู้ พบมีผู้เสียหายกว่า 150,000 ราย มูลค่าความเสียหายประมาณ 2,000-4,000 ล้านบาท จึงเดินทางเข้ายื่นหนังสือให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ

ด้านข้าราชการครูผู้เสียหายรายหนึ่งเผยว่ากู้เงิน 800,000 บาทจาก ช.พ.ค. มีธนาคารแห่งหนึ่งเป็นผู้ปล่อยกู้ ทำสัญญาผ่อนใช้คืนเป็นเวลา 10 ปี แต่ต้องแลกกับการทำประกันชีวิตพ่วง โดยตนยินยอมทำประกันชีวิตเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ หากผู้กู้เสียชีวิตทางบริษัทประกันภัยจะชดใช้หนี้คืนให้ทั้งหมด ไม่ต้องลำบากครอบครัวมาใช้หนี้ต่อ บริษัทประกันคิดเบี้ยประกัน 40,000 บาท โดยไม่มีกรมธรรม์ให้ ต่อมาทราบจาก คปภ.ว่าเป็นการทำประกันอุบัติเหตุ ราคาเบี้ยประกันเพียง 1,000-2,000 บาท มีครูทั่วประเทศกู้เงิน ช.พ.ค.จำนวนมากและเงินส่วนต่างจำนวนมหาศาลจากประกันภัยทั้ง 2 แบบไม่ทราบว่าตกอยู่กับผู้ใด

ภายหลังนางสุวณาเผยว่า เบื้องต้นรับหนังสือร้องเรียนไว้ก่อน หลังจากนี้จะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) สั่งตั้งคณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริง กรณี สกสค.นำเงินโครงการการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) จำนวน 2,100 ล้านบาท ไปลงทุนกับบริษัทเอกชน ที่มีการระบุว่าเป็นการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ 

ความคืบหน้าและบทสรุปในเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร จะนำเสนออย่างต่อเนื่อง

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 16 พฤษภาคม 2558

โพสต์เมื่อ 16 พ.ค. 2558 อ่าน 6098 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 189]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2700]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1078]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5582]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2420]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)