เบื้องหน้า-เบื้องลึก และ"คำเตือน" เช็กบิล-เชือด100ขรก.



ฝุ่นตลบไปตามๆ กัน เมื่อศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) โดยมี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน ประกาศนำรายชื่อข้าราชการที่มีส่วนพัวพันการทุจริตคอร์รัปชั่นล็อตแรกกว่า 100 คน ส่งให้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) เพื่อโยกย้ายออกจากตำแหน่ง รอการสอบสวนลงโทษ

ข้าราชการทั้งระดับบิ๊ก ระดับกลาง ร้อนๆ หนาวๆ เช็กกันวุ่นวายว่ามีรายชื่อตัวเองไปโผล่ในบัญชีดำนี้หรือไม่ เผื่อกลับตัวทันหาทางหนีทีไล่

เพราะเกรงว่า "บิ๊กตู่" จะใช้อำนาจจัดการเซ็นแกร๊กย้ายยกแผง

เบื้องหน้าเบื้องหลังของเหตุการณ์นี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่รัฐบาล คสช.เห็นว่า งานปราบปรามทุจริตเกือบทั้งหมดกลายเป็นงานของ ป.ป.ช.ไป

โดยที่รัฐบาลดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังเลือกทำคดีได้เอง จนถูกวิจารณ์ว่าไม่มีระบบ ไม่มีลำดับ บางคดีเกิดทีหลังแต่เสร็จก่อน บางคดีก็ดองกันยืดยาว บางเรื่องหมดอายุความไปก็มี

และดูจะเน้นการฟาดฟันนักการเมือง ส่วนคดีเกี่ยวกับข้าราชการไม่ค่อยมี ทั้งที่มีการร้องเรียนมากมายหลายคดี

นำมาสู่การตั้ง "คตช." ในระดับบนสุด และ "ศอตช." ที่รวมเอา 4 หน่วยงานเข้ามา

เริ่มต้นจากการดึงเอาคดีเกี่ยวกับข้าราชการที่ถูกดองเอาไว้มาปัดฝุ่นพิจารณากันใหม่

เนื่องจากที่ผ่านมา คสช.ไม่ค่อยแฮปปี้ที่ข้าราชการออกอาการใส่เกียร์ว่าง เบิกจ่ายงบประมาณล่าช้าและไม่เกรงกลัว เนื่องจากเห็นว่าเป็นรัฐบาลชั่วคราว

ดังจะเห็นจากการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์หลายครั้งหลายหน

ก็ต้องติดตามดูว่า รายการลงแส้ข้าราชการและหน่วยงานปราบคอร์รัปชั่น

ของ คสช.ในครั้งนี้จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน

ขณะเดียวกัน มีบางเสียงบางฝ่ายแสดงความเป็นห่วงการปราบทุจริตในหมู่ข้าราชการตามโมเดลนี้

"อังคณา นีละไพจิตร" นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรี สสร.2550 มองว่า เท่าที่ตามข่าวไม่มีการเผยแพร่เรื่องการตรวจสอบหรือหลักฐานความผิดสู่สาธารณชน ทั้งที่ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ทำงานด้านการตรวจสอบทุจริตของเจ้าหน้าที่ อาทิ สตง. ป.ป.ท. ป.ป.ช.

ส่วน ศอตช.เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ ทั้งยังมีข่าวว่าเตรียมรายชื่อเพื่อพิจารณาโยกย้ายข้าราชการกว่า 100 คน ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง

คนที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต หากคิดว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถใช้ช่องทางของศาลปกครองเพื่อฟ้องร้องผู้บังคับบัญชาได้ น่าจะเป็นอีกทางออกหนึ่ง

เช่น กรณี นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯ สมช. ถูกโยกย้ายโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ใช้ช่องทางของศาลปกครองเพื่อฟ้องร้องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่ผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ระมัดระวังอย่างมาก เพราะถ้าเป็นจริงตามข่าว ครั้งนี้จะเป็นการโยกย้ายเนื่องจากการ ทุจริตคอร์รัปชั่นที่มากที่สุดเลยทีเดียว

"การตรวจสอบต้องมีหลักฐานชัดเจน เพราะการทุจริตไม่ได้ส่งผลต่อผู้กระทำเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงครอบครัวเขาด้วย หากมีหลักฐานจริงต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม บางทีเราอาจบอกว่าการใช้อำนาจของท่านนายกฯตาม ม.44 เร็วดี แต่หากไม่มีหลักฐานชัดเจน อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรมด้วย" อังคณากล่าว

อังคณาเสนอความเห็นด้วยว่า นายกฯไม่ควรใช้ ม.44 เพราะอาจทำให้เป็นการใช้อำนาจส่วนตัว อาจทำให้มีปัญหา ไม่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ หากข้าราชการถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นทุกอย่างต้องใช้ความโปร่งใส ไม่ใช่บอกว่า "มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า..." แต่ไม่ได้บอกว่าหลักฐานคืออะไร

ถามถึงการทำงานของหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการทุจริตในภาครัฐ อังคณากล่าวว่า ที่ผ่านมาปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความไม่มีประสิทธิภาพ แต่อยู่ที่ความล่าช้า ในฐานะที่เคยเข้าไปอยู่ในกลไกการร้องเรียน เห็นว่าการตรวจสอบแต่ละเรื่องต้องใช้เวลาหลายปี

เมื่อองค์กรเหล่านี้ร้องขอเอกสารจากหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นควรรีบส่งเอกสารให้อย่างรวดเร็ว นอกจากปัญหาการส่งเอกสารล่าช้าแล้วยังมีปัญหาการไม่ส่งเอกสาร ทำให้สุดท้ายตรวจสอบไม่พบการทุจริต เพราะไม่มีข้อมูลเพียงพอที่บอกว่าทุจริตหรือไม่ องค์กรพวกนี้ดูเหมือนไม่ค่อยได้ทำอะไรอย่างที่ชาวบ้านครหาว่าบางคดีล่าช้า บางคดีรวดเร็ว

พูดกันถึงในระบบราชการมีการคอร์รัปชั่น ที่ผ่านมาอาจไม่ได้คอร์รัปชั่นในรูปของตัวเงิน แต่เป็นการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย อย่างการปฏิบัติงานล่าช้า เมื่อล่าช้าแล้วก็เกิดความไม่เป็นธรรม หรือหลักฐานบางอย่างหายไป มีความไม่เป็นกลางหรือลำเอียง ถือเป็นการไม่ทำตามนโยบาย ไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนตัวอยากเห็นการปฏิรูปกระทรวงยุติธรรมให้สามารถทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมได้จริง บางหน่วยงานของกระทรวงมีค่าตอบแทนสูงมาก แต่งานที่ออกมาคุ้มค่ากับค่าตอบแทนหรือเปล่า ทั้งยังมีหลายกรม ทั้งกรมราชทัณฑ์ กรมพินิจฯ กรมคุมประพฤติ ทำงานเรื่องยุติธรรมที่กว้างขวางและผูกพันกับชีวิตประชาชนมาก

"ฉะนั้น หากข้าราชการไม่ซื่อสัตย์ พัวพันการทุจริต จึงเป็นเรื่องน่าอับอายและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่วิธีแก้ไขต้องไม่เป็นการละเมิดหมู่คนหรือเจ้าหน้าที่เองด้วย" อังคณากล่าวทิ้งท้าย




--------------------------------------------------------------------------------





(ที่มา:มติชนรายวัน 11 เมษายน 2558)

โพสต์เมื่อ 11 เม.ย. 2558 อ่าน 3948 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)