เครือข่ายพนง.ขู่บุก ศธ.ขอเป็นขรก. หลังก.พ.อ.ตีกลับร่างพ.ร.บ.บริหารฯ



เมื่อวันที่ 29 มีนาคม นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.... ซึ่งที่ประชุมยังมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน รวมถึงยังมีข้อกังวลในหลายประเด็น อาทิ การบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า ควรบังคับใช้เฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) และกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคล (มทร.) ก่อน เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่เพิ่งเกิดใหม่ ระบบการบริหารงานบุคคลจึงอาจจะยังไม่สามารถดูแลบุคลากรได้ครอบคลุม หากใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มากำกับดูแล ก็จะทำให้การบริหารงานบุคคลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ หรือมหาวิทยาลัยเก่าแก่ ถือว่ามีระบบบริหารงานที่ค่อนข้างคล่องตัวแล้ว ดังนั้นที่ประชุมจึงมีมติให้ตั้งคณะกรรมการ โดยเชิญผู้แทนจาก มรภ.และ มทร.เข้าร่วม เพื่อดูข้อดี ข้อเสีย รายละเอียดต่างๆ ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก่อนนำเสนอที่ประชุม ก.พ.อ.พิจารณาต่อไป

นายสุมิตร สุวรรณ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ในฐานะประธานเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย กล่าวว่า เร็วๆ นี้ ตนพร้อมตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยจะขอเข้าพบ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เลขาธิการ กกอ. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อชี้แจงถึงความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบริหารงานบุคคลขั้นต่ำ ที่จะคุ้มครองสวัสดิการและสวัสดิภาพของพนักงานมหาวิทยาลัยไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ซึ่งหากมหาวิทยาลัยใดมีระบบบริหารงานบุคคลที่ดีอยู่แล้วก็จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากที่ใดยังจัดระบบบริหารงานบุคคลไม่มีคุณภาพ ก็จะต้องขยับตัวปรับระบบให้ดีขึ้น โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรมีผลบังคับใช้กับทุกมหาวิทยาลัย ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐ มรภ. มทร. และมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐหรือมหาวิทยาลัยนอกระบบ

"ทางเครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัยพยายามผลักดันกฎหมายฉบับนี้มานานถึง 2 ปี แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงถูกตีกลับหลายครั้ง ดังนั้น ครั้งนี้ทางเครือข่ายจะมีข้อเสนอว่าหากไม่สามารถผลักดันกฎหมายเพื่อดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพพนักงานได้จริงๆ จะขอให้ทางรัฐบาลทบทวนนโยบายการออกนอกระบบก่อน โดยมหาวิทยาลัยใดที่มีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ ก็ให้สามารถออกนอกระบบได้ แต่ถ้าที่ใดยังไม่พร้อม ก็ขอให้คืนอัตราข้าราชการให้กับมหาวิทยาลัยเหล่านั้น โดยเฉพาะกลุ่ม มรภ.และ มทร. เพราะหากเป็นข้าราชการก็จะได้รับการดูแลที่ดีจากภาครัฐ" นายสุมิตรกล่าว

 

 

ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 31 มี.ค. 2558 (กรอบบ่าย)

 

โพสต์เมื่อ 30 มี.ค. 2558 อ่าน 7723 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2718]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1086]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5663]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2435]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)