ซูเบอร์บอร์ดสั่งยกเลิกสอบ LAS ชี้ซ้ำซ้อนร.ร.-ลดกิจกรรมเหลือ 20 วันต่อปี



บอร์ดปฎิรูปการศึกษาสั่งยกเลิกการสอบ LAS ที่จัดประเมินผลแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาเริ่มปี 58 ชี้ไม่มีความจำเป็น แถมซ้ำซ้อนกับการสอบวัดผลของร.ร.พร้อมให้ลดกิจกรรมเหลือ20วันต่อปี จากเวลาเรียนทั้งหมด200วัน

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า คณะกรรมาธิการปฎิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสภาปฎิรูปการศึกษา (สปช.) ได้เสนอให้ยกเลิกการจัดสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือการสอบ NT (National Test) สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งจัดประเมินสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รวมถึงเสนอให้ยกเลิกการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับเขตพื้นที่การศึกษา หรือการสอบ LAS (Local Assessment System) สำหรับนักเรียนชั้นประถมปีที่ 2,4,5 และ ม.1,ม.2 และ ม.5 ซึ่งเป็นการประเมินภายใน จัดโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เรื่องนี้ถกกันอย่างกว้างขวาง และได้ข้อสรุปว่า การสอบ NT เด็กป.3 ยังมีความจำเป็น เพราะเป็นการทดสอบครั้งแรกตั้งแต่ระดับอนุบาล แต่สำหรับการสอบLAS นั้น น่าจะไม่มีความจำเป็นมากนัก เพราะเป็นการประเมินภายในของสพท. ปกติโรงเรียนก็ทดสอบนักเรียนในช่วงชั้นอยู่แล้ว ที่ประชุมจึงเห็นว่าควรจะยกเลิกการสอบ LAS ตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 นี้

"ที่ประชุมได้พูดถึงการทำกิจกรรมของนักเรียน ที่แต่ละปีเด็กมีเวลาเรียน 200 วัน แต่เวลาเรียนของเด็กถูกนำไปทำกิจกรรมอื่นถึง 82 วัน ทั้งที่ตามหลักแล้วเวลาทำกิจกรรมอื่นไม่ควรเกินร้อยละ 10 หรือ 20 วัน และการทำกิจกรรมมากๆ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลการเรียนไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ที่ประชุมเห็นว่า ในปีการศึกษาหน้า (2558) ต้องลดกิจกรรมไม่เกิน ร้อยละ 10 หรือ 20 วันต่อปีการศึกษา และให้สพฐ.สั่งการไปยังโรงเรียนและสพท.ทั้งหมด รวมถึงให้ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย" รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ในการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้พิจารณาเกณฑ์การประเมินการได้มาของวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ (ว.13) ที่ให้นำผลงานของครูมาเป็นตัวชี้วัดในการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่งทำให้ครูต้องทิ้งห้องเรียนไปล่ารางวัลเพื่อมาทำวิทยฐานะ และในการประชุม ก.ค.ศ.ที่ผ่านมาได้พิจารณาเห็นชอบเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ โดยให้ประเมินวิทยฐานะจากผลการเรียนการสอนของครูในห้องเรียน ซึ่งในการประชุม ก.ค.ศ.ต้นเดือนเมษายนนี้ จะนำหลักเกณฑ์ใหม่มาพิจารณาหากเห็นชอบก็จะประกาศใช้และยกเลิกหลักเกณฑ์เดิมทันที แต่ผู้ที่ส่งผลงานมาก่อนประกาศใช้เกณฑ์ใหม่ยังคงใช้ ว.13 พิจารณาเหมือนเดิม

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

โพสต์เมื่อ 27 มี.ค. 2558 อ่าน 14538 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2730]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1087]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5684]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2438]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)