ไขรหัสประเมินคุณภาพ แนะ ร.ร.มีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน



ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากทุกคนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะความร่วมมือกับชุมชน ทำให้เกิดการช่วยเหลือกัน ส่งผลให้โรงเรียนเข้มแข็งขึ้น

สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยภาพรวมของการศึกษาไทยจากการประเมิน 3 รอบที่ผ่านมาในรอบ 15 ปี ในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา จากโรงเรียนทั่วประเทศทั้งหมด 32,099 แห่ง ปรากฏว่ามีโรงเรียนที่ได้ผลประเมินดีมากทั้ง 3 รอบ จำนวน 354 แห่ง 

โดยพบข้อสังเกตที่น่าสนใจคือโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมากได้รับผลการประเมินดีมากติดต่อกัน 3 รอบ ซึ่งถือได้ว่ามีศักยภาพไม่น้อยกว่าโรงเรียนขนาดกลาง, ใหญ่ และใหญ่พิเศษ

อาจต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากระบบการบริหารจัดการของโรงเรียนที่มีศักยภาพ ดังเช่น โรงเรียนบ้านเหล่ายาว ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแห่งเดียวของ จ.ลำพูน ที่ได้รับการประเมินจาก สมศ.ระดับดีมากทั้ง 3 รอบ โดย "นิคม พรหมอนันต์" ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่าการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของโรงเรียนอาศัยหลักการมีส่วนร่วม ด้วยการเชิญผู้แทนผู้ปกครอง ผู้นำชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน และครู มาร่วมกันทำสมัชชาโรงเรียน

"เป้าหมายคือวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง เพื่อนำไปสู่การสร้างโรงเรียนที่ดี ก่อนจะกำหนดเป็นแผนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา 3-5 ปี และทำแผนปฏิบัติการประจำปี ซึ่งกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่นำไปสู่การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน"

ทั้งนั้น เพราะการบริหารโรงเรียนไม่ได้อยู่ที่ผู้บริหารคนเดียว แต่ต้องมีทีมงานสนับสนุน โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในชนบท ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือกับชุมชน และทุกภาคส่วนเข้ามาให้ความสำคัญ และร่วมมือในการดำเนินงานหรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆอีกทั้งความที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก อันมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงทำให้โรงเรียนต้องหาแนวทางการระดมทุนอย่างการทอดผ้าป่า เพื่อนำเงินมาพัฒนาโรงเรียน

"โรงเรียนของเรากำหนดมาตรฐานตัวเองให้สอดคล้องกับเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ก่อน และหากเราผ่านมาตรฐานของ สพฐ. ก็เหมือนเรามีฐานจนนำไปสู่การพัฒนาที่สอดคล้องกับเกณฑ์ สมศ."

การบริหารจัดการของ ร.ร.บ้านเหล่ายาว เป็นไปในทิศทางเดียวกับโรงเรียนขนาดใหญ่อย่าง ร.ร.ยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่ ซึ่งรองผู้อำนวยการโรงเรียน "ผ่องพรรณ สายทอง" บอกว่า จุดแข็งของโรงเรียนอยู่ที่การบริหารงานที่เน้นการมีส่วนร่วม และทำงานเป็นทีมผ่านภาคีเครือข่าย ได้แก่ โรงเรียน, กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน, สมาคมผู้ปกครองและครู, เครือข่ายผู้ปกครอง และสมาคมศิษย์เก่า นอกจากนั้น มีการแจ้งผลการประเมินคุณภาพจาก สมศ. ให้ครูและนักเรียนรับทราบอย่างทั่วถึง

"นักเรียนจะทราบว่าตัวเองอยู่ในระดับไหน แล้วต้องพัฒนาอย่างไร ทำให้เกิดความร่วมมือกับครู เพื่อทำให้การประเมินครั้งต่อไปดีขึ้น ขณะที่ครูก็พัฒนาตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนั้น สิ่งที่ถือว่าเป็นความท้าทายของเรา คือ ตัวบ่งชี้เรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพราะเด็กที่มาอยู่โรงเรียนเรามีทั้งเด็กอ่อนและเก่ง จึงต้องพัฒนาเด็กอ่อนขึ้นมาเพื่อให้ผลสัมฤทธิ์เข้าเกณฑ์ โดยมีโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ"

"ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์" ผู้อำนวยการสมศ. ฉายภาพรวมของการประเมินคุณภาพการศึกษาว่า โรงเรียนขนาดเล็กพัฒนาขึ้นจากรอบ 1 และ 2 อย่างมาก ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้อยู่ที่ความรับผิดชอบของคนคนเดียว แต่ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยเฉพาะวัฒนธรรมชุมชนที่โรงเรียนสร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้เกิดการช่วยเหลือกัน ส่งผลให้โรงเรียนเข้มแข็งขึ้น

"โรงเรียนต้องทำให้เหนือกว่าเกณฑ์ที่ สพฐ.หรือ สมศ.กำหนด คือต้องตั้งเป้าให้สูง รวมถึงมีการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดตัวบ่งชี้เพื่อพัฒนาโรงเรียนตนเอง ดังนั้นไม่ว่า สพฐ. หรือ สมศ. จะพัฒนาตัวบ่งชี้ใด ก็จะไม่กระทบต่อสถานศึกษา เพราะมีตัวบ่งชี้ของตัวเองอยู่แล้ว"

สำหรับการประเมินคุณภาพการศึกษาของ สมศ. ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด โดยประเมินอย่างน้อย 1 ครั้งในทุก ๆ 5 ปี ผ่าน 12 ตัวชี้วัด อันเป็นเกณฑ์วัดคุณภาพมาตรฐาน ได้แก่ 1) ผู้เรียนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี 2) ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์ 3) ผู้เรียนมีความใฝ่รู้ และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง 4) ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น 5) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน 6) ประสิทธิผลของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ 

7) ประสิทธิภาพของการบริหารการจัดการและการพัฒนาสถานศึกษา 8) พัฒนาการของการประกันคุณภาพภายในโดยสถานศึกษาและต้นสังกัด 9) ผลการพัฒนาให้บรรลุตามปรัชญา วิสัยทัศน์ พันธกิจ และวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถานศึกษา 

10) ผลการพัฒนาตามจุดเน้นและจุดเด่นที่ส่งผลสะท้อนเป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา 11) ผลการดำเนินงานโครงการพิเศษเพื่อส่งเสริมบทบาทของสถานศึกษา และ 12) ผลการส่งเสริมพัฒนาสถานศึกษาเพื่อยกระดับมาตรฐาน รักษามาตรฐานและพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ






ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 19 มี.ค. 2558

โพสต์เมื่อ 21 มี.ค. 2558 อ่าน 4629 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)