ปรับหลักสูตรพื้นฐาน ต้องฟังรอบด้าน



“ชุมพล พรประภา”ชำแหละศธ. 10 ปีผ่านมายังหวงอำนาจ ผู้บริหารและครูติดกรอบรับคำสั่ง คิดนอกกรอบน้อย ชี้ปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องฟังเสียงรอบด้านและเลิกสั่งการได้แล้ว ด้านศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญระบุเด็กประถมฯอ่านไม่ออกเพราะเรียนหลายกลุ่มสาระเกินไป


วันนี้(5มี.ค.) ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)เขต 2 เป็นเจ้าภาพ จัดให้มีการประชุมเสวนารับฟังความคิดเห็น เรื่อง “สภาพและปัญหาการใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551” โดย ดร.ชุมพล พรประภา ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็นประธานการประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และกระทรวงศึกษาธิการ จะต้องดูจุดอ่อนและจุดแข็งของหลักสูตรแกนกลางที่ใช้อยู่ให้ดี ว่าอะไรที่ต้องตัดออก อะไรที่ต้องคงไว้ เพื่อช่วงชิงโอกาสในสังคมโลกที่ปัจจุบันจะใช้อำนาจทางเศรษฐกิจเป็นตัวตัดสิน โดยต้องมาดูว่าปัจจุบันที่ให้เด็กเรียน 8 กลุ่มสาระนั้นมากเกินไปหรือไม่ จะให้ลดลงเหลือ 5 กลุ่มได้อย่างไร จะจัดการเรียนการสอนอย่างไร ที่จะให้มีการสอนลดลงแต่เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น เป็นต้น

“สิ่งที่ต้องแก้ไขมากที่สุด คือ การกระจายอำนาจและวิธีคิด 10 กว่าปีที่ผ่านมา ส่วนกลางยังหวงอำนาจ ขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนและครูก็ยังติดอยู่กับกรอบการรับคำสั่ง คนที่จะคิดนอกกรอบมีน้อยมาก ซึ่งผลการเรียนของเด็กส่วนใหญ่ที่ยังไม่ดีขึ้นไม่ใช่เพราะหลักสูตรอย่างเดียว แต่เพราะความหวงอำนาจของส่วนกลาง ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรครั้งนี้จะต้องเปิดโอกาสให้คนจากหลากหลายกลุ่มได้เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด เพื่อให้หลักสูตรมีมุมมองที่กว้างและผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้ ไม่ใช่สั่งการหรือคิดโดยส่วนกลางแล้วสั่งให้ทำอีกแล้ว”ดร.ชุมพลกล่าว

ด้าน ดร.สุขพัชรา ซิ้มเจริญ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ หัวหน้ากลุ่มงานหลักสูตรฯ สพม.2 กล่าวว่า ปัญหาของการใช้หลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ.2551 ที่เป็นประเด็นหลักสำหรับเด็กระดับประถมศึกษา คือ จากเดิมที่เด็กประถมฯจะเรียนเป็นวิชารวมกลุ่มสาระ เช่น กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย (สลน.) กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต(สปช.) เป็นต้น แต่หลักสูตรใหม่ให้เรียน 8 กลุ่มสาระเป็นการซอยวิชาและซอยครูออกเป็นแต่ละวิชา ทำให้เด็กต้องเรียนหนัก มีเวลาสำหรับการทำกิจกรรมน้อย วิชาหลัก ๆ ที่จำเป็นอย่างภาษาไทยและคณิตศาสตร์ที่เคยเน้นก็ต้องลดลงเพื่อไปเรียนวิชาต่าง ๆ ทั้ง 8 กลุ่มสาระ ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กอ่านไม่ออก ขณะที่ระดับมัยมศึกษาก็มีปัญหาว่า ครูแต่ละกลุ่มจะยึดเนื้อหาหลักสูตรแกนกลางมาก เพราะกังวลว่าเด็กจะทำคะแนนโอเน็ตได้น้อย ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ไม่ค่อยได้เน้นการเรียนหลักสูตรท้องถิ่นเท่าที่ควรเพราะถูกอัดแน่นด้วยหลักสูตรแกนกลางฯ

 

 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันพฤหัสบดี 5 มีนาคม 2558

 

โพสต์เมื่อ 6 มี.ค. 2558 อ่าน 5922 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 193]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1085]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5649]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2430]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)