ตั้งทีมศึกษาบทบาทใหม่บอร์ดคุรุสภา



"ไพฑูรย์” เผยบอร์ดคุรุสภา ตั้งคณะกรรมการศึกษาบทบาทใหม่ หลังมีข้อเสนอจาก กมธ.ศึกษาฯสนช.ให้ปรับลดสัดส่วนกรรมการฝ่ายผู้แทนครู เพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ใช้บัณฑิต

วันนี้ (23 ก.พ.) ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภา หรือ บอร์ดคุรุสภา ได้หารือถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ความเห็นเกี่ยวกับองค์ประกอบกรรมการคุรุสภา ในส่วนของผู้แทนครู และส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเห็นว่าน่าจะลดจำนวนกรรมการฯส่วนผู้แทนครูลง และเพิ่มผู้ทรงคุณวุฒิให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนอว่าน่าจะเพิ่มกรรมการฯในส่วนของผู้ใช้บัณฑิตมากขึ้น โดยที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และเห็นว่าบอร์ดคุรุสภา เป็นสภาของวิชาชีพครู การที่จะมีการเสนอให้ลดหรือเพิ่มจำนวนกรรมการฯผู้แทนในด้านต่างๆโดยไม่ได้กลั่นกรอง หรือรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วนอาจจะไม่ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์พอ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาบทบาท ภาระหน้าที่ที่ควรจะเป็นของคุรุสภา รวมทั้งศึกษางานวิจัยต่างๆ และรวบรวมข้อมูล ว่า บทบาทคุรุสภาในอนาคตจะเป็นในลักษณะใด โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครู นอกจากนี้ให้ศึกษาจำนวนกรรมการว่าควรมีเท่าไร การได้มาของกรรมการ เป็นเช่นไร และจัดทำเป็นข้อเสนอให้ สนช.ซึ่งคาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือนจะแล้วเสร็จ

" ที่ สนช.มีการพูดถึงองค์ประกอบของบอร์ดคุรุสภา เพราะที่ผ่านมาอาจจะมีความเข้าใจว่ามีความไม่ลงรอยหรือความไม่เห็นด้วย ระหว่างกรรมการฝ่ายผู้แทนครู กับฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ และมักเข้าใจว่าเมื่อกรรมการฝ่ายผู้แทนครูมาก เมื่อมีการประชุมลงคะแนนเสียงก็ชนะทุกที จึงมีคำกล่าวว่า ผู้แทนครูมากก็ไม่ต้องพิจารณาอะไรเพราะโหวตชนะทุกที แต่สำหรับบอร์ดชุดนี้มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เราไม่มีความแตกแยกทางความคิด การประชุมพิจารณาไปตามเหตุผลและข้อเท็จจริง ไม่ใช่ประชุมเพื่อรักษาประโยชน์ของกลุ่มหรือเพื่อตนเอง และพิจารณาโดยยึดประโยชน์วิชาชีพและผู้เรียนเป็นหลัก” ประธานกรรมการคุรุสภา กล่าว

ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกรรมการบอร์ดคุรุสภา มีทั้งสิ้น 39 คน ประกอบด้วย ประธาน 1 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ 4 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน และผู้แทนครู 19 คน ซึ่งส่วนตัวมองว่าโครงสร้างบอร์ดที่เป็นอยู่นั้นเหมาะสมแล้ว สำหรับบทบาทของคุรุสภาในอนาคตนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน หากมีบทบาทในเชิงวิชาการ วิชาชีพ องค์ประกอบของบอร์ดก็จะต้องเปลี่ยนไป เพราะทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพ แต่หากคุรุสภามีบทบาทเป็นสภาวิชาชีพ เท่ากับเป็นตัวแทนของสังคมต้องเข้ามาดูแลมาตรฐานการผลิตบัณฑิตให้ได้ตามที่สังคมต้องการ อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ต้องรอผลการศึกษาจากคณะกรรมการศึกษาบทบาทที่ตั้งขึ้นก่อน.

 


ที่มา เดลินิวส์ วันจันทร์ 23 กุมภาพันธ์ 2558

 

โพสต์เมื่อ 24 ก.พ. 2558 อ่าน 4385 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)