สพฐ.เปิดยอดสมัครสอบผู้บริหารสถานศึกษาทั้งหมด 22,211 ราย



วันนี้ (4 ก.พ.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาและผู้อำนวยการสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่โรงแรมอะเดียติคพาเลช กรุงเทพฯ ว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ให้กระบวนการจัดสอบเป็นไปด้วยความโปร่งใสและยุติธรรม รวมถึงกำชับมาตรการป้องกันการทุจริต ทั้งก่อนสอบ ระหว่างสอบ และหลังสอบ เพื่อให้การสอบคัดเลือกเป็นไปอย่างรอบคอบ ป้องกันความเสี่ยงที่จะมีข้อผิดพลาดและดำเนินการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลตรวจสอบได้ โดยการคัดเลือกครั้งนี้ มีผู้สมัครทั้งหมด 22,211 ราย แบ่งเป็น

  • รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 6,267 ราย
  • ผู้อำนวยการสถานศึกษา 15,944 ราย

จากจำนวนตำแหน่งที่เปิดรับทั้งหมด 4,257 ตำแหน่ง แบ่งเป็น

  • รองผู้อำนวยการสถานศึกษา 1,353 ตำแหน่ง
  • ผู้อำนวยการสถานศึกษา 2,904 ตำแหน่ง

โดยเขตพื้นที่ฯ ที่มีผู้สมัครมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ

  1. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) เขต1 กรุงเทพฯ จำนวน 295 ราย
  2. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) บุรีรัมย์ เขต4 จำนวน 270 ราย และ
  3. สพป.สุรินทร์ เขต 3 จำนวน 256 ราย

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า การสอบครั้งนี้มีความพิเศษจากการสอบครั้งที่ผ่านมา โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนดให้ สพฐ.เป็นผู้จัดสอบและเข้าไปดูแลการออกข้อสอบในส่วนของการสอบภาค ก หรือความรู้ทั่วไป ส่วนการสอบภาค ข วิชาเฉพาะประจำตำแหน่ง และ ภาค ค การสอบสัมภาษณ์ ให้เขตพื้นที่ฯ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในส่วนของข้อสอบ สพฐ.ได้ติดต่อมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญด้านศึกษาศาสตร์ของประเทศเป็นผู้ออกข้อสอบ จัดส่งข้อสอบ และประมวลผลการสอบให้ โดยข้อสอบที่ใช้จะมีคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน แต่จะมีหลายฉบับ เพื่อป้องกันกรณีที่หากมีพื้นที่ใดเกิดปัญหา พื้นที่อื่นก็ยังสามารถใช้ข้อสอบในพื้นที่ข้องตัวเองได้“

สำหรับการสอบคัดเลือกครั้งนี้มีความพิเศษ คือ จะเปิดสอบบรรจุผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กที่ยังว่างอยู่ด้วย จากเดิมที่จะไม่เปิดสอบในโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน แต่ครั้งนี้เปิดรับหมด แสดงให้เห็นว่ากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ไม่ได้มีนโยบายยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการจัดการศึกษาทางไกลเข้าไปแก้ปัญหา ดังนั้นจึงเป็นต้องสอบบรรจุตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนขนาดเล็กที่ว่างอยู่ ไม่ใช่ปล่อยละเลย โดยไม่มีผู้บริหาร“ เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า นอกจากนี้ตนยังได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะห้ามผู้บริหารเขตพื้นที่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสอบไปจัดติว จำหน่าย แจก หรือกระทำการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้สอบเด็ดขาด หากพบจะต้องให้ออกจากการเป็นกรรการคุมสอบทันที ขณะเดียวกันจะตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนที่ส่วนกลาง โดยมีนางรัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการ กพฐ.เป็นประธาน กรณีที่มีข้อร้องเรียน ประเด็นปัญหาต่าง ๆ เข้ามาสามารถใช้อำนาจในเชิงบริหารจัดการได้ทันที จะไม่ปล่อยให้มีปัญหาในพื้นที่ ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวผู้บริหารเขตพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออก เตรียมเปิดติวนั้น หลังจากที่ตนได้เรียกมาพบ เพื่อทำความเข้าใจเป็นการส่วนตัวแล้ว ทางเขตพื้นที่ฯดังกล่าวก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรที่จะส่อไปในทางทุจริต

ที่มา: http://www.dailynews.co.th  

โพสต์เมื่อ 4 ก.พ. 2558 อ่าน 7781 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 192]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2713]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1084]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5638]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2427]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)