บทบาทของผู้บังคับบัญชาในการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในหน้าที่ราชการ



สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วันนี้ดิฉันอยากจะพูดคุยเกี่ยวกับบทบาทของผู้บังคับบัญชาในการต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในหน้าที่ราชการ การที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ปกติผู้ใดกระทำผิดผู้นั้นก็ต้องรับโทษ ผู้บังคับบัญชามิได้เกี่ยวข้องก็ไม่ควรต้องรับผิดด้วย ซึ่งก็อาจถูกต้องที่ผู้บังคับบัญชาไม่ต้องรับผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำผิดฐานทุจริต แต่ผู้บังคับบัญชาก็อาจต้องรับผิดและถูกลงโทษทางวินัยในฐานที่เป็นผู้บังคับบัญชาที่มิได้ดูแลป้องกันให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือช่วยเหลือมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาถูกลงโทษทางวินัย ท่านที่เป็นผู้บังคับบัญชานับว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งกับกาต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบในหน้าที่ราชการ

การทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประเภทใดก็ตาม หากข้าราชการปฏิบัติหน้าที่โดยไร้ซึ่งระเบียบวินัย ทั้งวินัยในตนเอง วินัยต่อผู้บังคับบัญชา วินัยต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการเสียแล้ว ย่อมนำมาซึ่งความไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม ไม่เคารพกฎหมาย ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการไม่เกิดความเที่ยงธรรม นำไปสู่การทุจริตประพฤติมิชอบในที่สุด ดิฉันในฐานะเลขาธิการ ก.ค.ศ. เห็นว่าเพื่อให้การปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสัมฤทธิผล จำต้องมุ่งเน้นพัฒนา เพิ่มประสิทธิภาพ เร่งทบทวนบทบาทของผู้บังคับบัญชาและให้ความรู้ทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาให้เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต เข้าในระเบียบวินัย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัย ในอานที่จะทำให้เป็นผู้มีวินัย กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางวินัย ในอันที่จะทำให้เป็นผู้มีวินัย เคารพกฎหมาย มีความซื่อสัตย์ทั้งในตนเองและการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่คิดทุจริต ประพฤติมิชอบในหน้าที่การงาน โดยผู้บังคับบัญชาจะต้องเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวมในอันที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชาจะต้องทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 กล่าวคือ เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามีวินัยป้องกันมิให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัย และหากผู้อยู่ใต้บังคับบัญชากระทำผิดวินัยให้ดำเนินการทางวินัยทันที โดยดำเนินการกับผู้กระทำการทุจริตประพฤติมิชอบขั้นเด็ดขาดโดยไม่มีการช่วยเหลือผู้กระทำผิด แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลด้วย

กล่าวโดยสรุปจะเห็นได้ว่า การทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการนับเป็นมะเร็งร้ายกัดกร่อนให้ชาติบ้านเมืองได้รับความเสียหาย ผู้บังคับบัญชา ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกชั้นทุกระดับนับว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่ง จึงต้องช่วยกันกำกับดูแล ติดตาม ตรวจสอบ ให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเป็นข้าราชการที่ดี มีวินัยโดยเคร่งครัดนะคะ แล้วพบกันใหม่วันจันทร์หน้าค่ะ

ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.

ที่มา มติชน วันจันทร์ ที่ 8 ธันวาคม 2557

โพสต์เมื่อ 4 ม.ค. 2558 อ่าน 9288 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)