ม.157 เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ



สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ทุกท่าน เชื่อว่าหลายท่านคงเคยพบเห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีตำแหน่งหน้าที่ราชการระดับสูงถูกดำเนินคดีฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ตามมาตรา 157 กันอยู่บ่อยครั้ง วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับมาตรา 157 กันค่ะ

ความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อยู่ในหมวด ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ดังนั้น ผู้ที่จะกระทำความผิดตามมาตรานี้ได้จะต้องเป็นเจ้าพนักงาน หมายความว่าผู้นั้นต้องเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมาย บุคคลอื่นที่มิได้เป็นเจ้าพนักงานย่อมไม่เข้าองค์ประกอบที่จะเป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ได้ ตามมาตรานี้แยกพิจารณาได้เป็นสองส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด คำว่า "โดยมิชอบ" หมายความถึงโดยมิชอบด้วยหน้าที่ซึ่งเจ้าพนักงานมีอยู่ตามกฎหมาย ถ้าสิ่งที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติมิได้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ เช่น ตำรวจไปเบิกความเป็นพยานที่ศาล การเบิกความของตำรวจมิใช่หน้าที่ราชการหรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายโดยตรงของตน แม้เบิกความเท็จก็ไม่ผิดมาตรา 157 (ฎีกาที่ 1033/2533) และต้องกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้มิได้จำกัดเฉพาะในทางทรัพย์สินเท่านั้น อาจเป็นความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเสรีภาพก็ได้ เช่น ตำรวจแกล้งจับผู้เสียหายอ้างว่ากระทำผิดฐานเมาสุราอาละวาดทั้งที่ไม่เป็นความจริง (ฎีกาที่ 2444/2521) ส่วนที่สอง เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต คำว่า "โดยทุจริต" หมายความว่ากระทำหรือละเว้นการกระทำตามหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เช่น ตำรวจพบเลื่อยวงเดือนซุกซ่อนไว้เป็นเครื่องมือเพื่อกระทำผิด ตำรวจยึดมาเพื่อเป็นของกลางแล้วเรียกเงินจากเจ้าของจึงคืนเลื่อยให้เจ้าของ (ฎีกาที่ 726/2524)

มาตรา 157 เป็นบทบัญญัติที่มีโทษทางอาญาและมีการฟ้องร้องคดีกันบ่อยครั้ง และนับว่ามีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ราชการของเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากทุกท่านปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มิได้ใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือกลั่นแกล้งเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดก็ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 157 นี้ แต่กรณีจะเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นหรือไม่นั้นก็คงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป แล้วพบกันใหม่จันทร์หน้าค่ะ

ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.

 

 

ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557

โพสต์เมื่อ 23 ก.ย. 2557 อ่าน 13410 | 1 ความเห็น

ความคิดเห็นที่ 1 | โดย คุณNOAMPHAVANOR (โพสต์เมื่อ 25 ก.ย. 2557 เวลา 11:40 น.)
กรณีตัวอย่าง ผู้บริหารแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินพนักงานราชการ ปรากฎว่า มีพนักงานราชการไม่มาแสดงผลงานและสอบในวันนั้น 2 คน แต่ประกาศผลปรากฎว่า 2 คนที่ไม่มามีคะแนน อยากถามว่าใครมีความผิดและผิดในข้อหาอะไ เรื่องนี้เกิดที่โรงเรียนประจำจังหวัดเลย ได้ร้องไปที่ ศธ. แล้ว แต่ไม่คืบหน้า

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)