เมื่อครูถูกลงโทษทางวินัย ต้องอุทธรณ์คำสั่งองค์กรใด



สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน พบกันเช่นเคยนะคะ สำหรับวันนี้จะนำเรื่องการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยจะต้องอุทธรณ์ต่อองค์กรใดมาบอกเล่าให้ฟัง ซึ่งก่อนจะมีการอุทธรณ์ ท่านต้องถูกผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยและถูกลงโทษแล้ว หากเป็นวินัยไม่ร้ายแรง ผู้บังคับบัญชาของท่านมีอำนาจดำเนินการ แต่หากเป็นกรณีความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ต้องเป็นผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจตามมาตรา 53 จึงจะมีอำนาจดำเนินการทางวินัยแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และการสั่งลงโทษวินัยอย่างร้ายแรงต้องสั่งตามมติ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือ ก.ค.ศ. แล้วแต่กรณี

การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง (โทษปลดออกหรือโทษไล่ออก) นั้น จะต้องอุทธรณ์ต่อ ก.ค.ศ. ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ท่านได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษ โดยต้องทำเป็นหนังสือถึงประธาน ก.ค.ศ. หรือเลขาธิการ ก.ค.ศ. โต้แย้งว่าการลงโทษท่านไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม แสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลให้เห็นว่าท่านมิได้กระทำผิดประการใด หรือความผิดของท่านไม่ถึงขั้นร้ายแรงที่จะต้องปลดหรือไล่ท่านออกจากราชการ พร้อมด้วยพยานหลักฐาน (ถ้ามี)

ส่วนโทษวินัยไม่ร้ายแรง (โทษภาคทัณฑ์ โทษตัดเงินเดือน หรือโทษลดขั้นเงินเดือน) จะต้องอุทธรณ์ต่อองค์กรใดนั้น ท่านต้องดูว่าโทษนั้นๆ ถ้าสั่งโดยอำนาจของผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลงมาจะต้องอุทธรณ์ต่อ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษานั้น แต่ถ้าผู้สั่งลงโทษคือเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือผู้บังคับบัญชาคนใดก็ตามที่สั่งลงโทษตามมติ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ต้องอุทธรณ์ต่อ ก.ค.ศ. ซึ่งการอุทธรณ์กรณีโทษวินัยไม่ร้ายแรงก็เป็นการอุทธรณ์ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คือต้องอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ท่านได้รับแจ้งคำสั่งลงโทษ โดยต้องทำเป็นหนังสือถึงประธาน อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประธาน ก.ค.ศ. หรือเลขาธิการ ก.ค.ศ. แล้วแต่กรณี

สำหรับการส่งหนังสืออุทธรณ์ของท่าน อาจส่งโดยตรงที่สำนักงาน ก.ค.ศ. หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานั้นๆ หรือจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ (มีใบตอบรับทางไปรษณีย์) ก็ได้ ไม่ต้องเสียเวลาเสียเงินทองค่าพาหนะเดินทางมาเพื่อยื่นหนังสืออุทธรณ์ และควรยื่นเสียแต่เนิ่นๆ ก่อนครบกำหนด 30 วัน (ไม่ใช่หนึ่งเดือนนะคะ) และไม่ควรยื่นวันสุดท้าย เพราะหากมีอะไรผิดพลาดก็จะแก้ไขไม่ทันค่ะ โดยถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ประทับตราลงรับหนังสือของท่านเป็นวันยื่นหนังสืออุทธรณ์ (มีข้อสังเกตสำหรับท่านที่ถูกลงโทษ ในคำสั่งลงโทษตอนท้ายจะบอกให้ท่านทราบว่าจะต้องอุทธรณ์ต่อองค์กรใดภายใน 30 วัน ส่วนการทำหนังสืออุทธรณ์ ท่านเป็นผู้รู้ข้อเท็จจริงดีที่สุดท่านทำเองจะดีกว่า หากสุดวิสัยไม่อาจทำเองได้จะปรึกษาผู้รู้ให้ช่วยเหลือก็ได้ แต่ไม่ว่าจะอุทธรณ์กรณีใดก็ตาม ท่านต้องอย่าลืมลงลายมือชื่อของท่านในหนังสืออุทธรณ์ด้วยตนเอง)

อนึ่ง เมื่อยื่นหนังสืออุทธรณ์ถูกต้องภายใน 30 วันแล้ว ก่อนการพิจารณาอุทธรณ์แล้วเสร็จ ท่านสามารถยื่นอุทธรณ์เพิ่มเติมได้ หากมีพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ แล้วพบกันใหม่ในวันจันทร์หน้าค่ะ

ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.

 

ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โพสต์เมื่อ 4 ก.ย. 2557 อ่าน 14204 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)