พระราชบัญญัติล้างมลทินฯกับผลทางกฎหมายที่ควรรู้



สวัสดีค่ะ เพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน สถานี ก.ค.ศ. จันทร์นี้ขอเสนอกรณีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งถูกดำเนินการทางวินัยและต่อมาได้รับการล้างมลทินตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลทำให้ไม่อาจดำเนินการเพิ่มโทษหรือดำเนินการทางวินัยในมูลกรณีเดียวกันได้อีกต่อไป หากภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลในกรณีเดียวกันว่าเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีดังกล่าวนี้มีปัญหาว่าผู้บังคับบัญชาของข้าราชการครูรายนี้จะต้องดำเนินการทางวินัยต่อไปหรือไม่อย่างไร โดยมีตัวอย่าง ข้อเท็จจริงดังนี้

เมื่อปี 2545 นาย ก. ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่ง ถูกดำเนินการทางวินัย กรณีทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ผลการดำเนินการทางวินัยท้ายที่สุดผู้บังคับบัญชาสั่งงดโทษ เรื่องทางวินัยเป็นที่ยุติตั้งแต่ปี 2546 ต่อมามีการประกาศใช้พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสที่พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 โดยผลของกฎหมายฉบับนี้ ทำให้ผู้บังคับบัญชาของ นาย ก. ไม่อาจดำเนินการเพิ่มโทษหรือดำเนินการทางวินัยกับ นาย ก. ในมูลกรณีเดียวกันได้อีกต่อไป

แต่เหตุการณ์ไม่จบแค่นั้น เพราะว่าต่อมาในปี 2556 คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ นาย ก. แล้วมีมติว่า การกระทำของ นาย ก. มีมูลเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และส่งเรื่องมาที่ผู้บังคับบัญชาของ นาย ก. เพื่อพิจารณาโทษวินัยร้ายแรงในฐานความผิดดังกล่าว กรณีนี้ผู้บังคับบัญชาของ นาย ก. จะพิจารณาโทษวินัยอย่างร้ายแรง นาย ก. ตามมติ ป.ป.ช.ได้หรือไม่

เรื่องนี้มีแนววินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า กรณีที่มีการดำเนินการทางวินัยบุคคลใดแล้ว ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้ออกจากราชการหรือสั่งให้ยุติเรื่องหรืองดโทษ ผู้ถูกดำเนินการทางวินัยดังกล่าวอยู่ในเงื่อนไขที่ได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติล้างมลทินฯแล้ว ซึ่งมีผลทำให้ไม่อาจดำเนินการเพิ่มโทษหรือดำเนินการทางวินัยในมูลกรณีเดียวกันได้อีกต่อไป แม้ว่าภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าบุคคลนั้นกระทำความผิดวินัยร้ายแรง ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ก็ตาม ผู้บังคับบัญชาย่อมไม่อาจดำเนินการทางวินัยแก่ผู้นั้นได้อีกต่อไป ดังนั้น กรณีนี้ผู้บังคับบัญชาของ นาย ก. จึงไม่อาจเพิ่มโทษ นาย ก. เป็นความผิดวินัยร้ายแรงตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดได้

เป็นอย่างไรบ้างคะ เรื่องที่นำเสนอวันนี้คงพอเป็นประโยชน์กับเพื่อนครูได้บ้าง ท้ายที่สุดนี้อยากบอกว่าพระราชบัญญัติล้างมลทินฯ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อพสกนิกร พวกเราในฐานะที่เป็นข้าราชการจึงควรปฏิบัติตนตามระเบียบแบบแผนและศีลธรรมอันดีเพื่อเป็นเกราะคุ้มครองมิให้ถูกดำเนินการ ซึ่ง ทางวินัยนะคะ แล้วพบกันใหม่จันทร์หน้าค่ะ

ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.



ที่มา : มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2557

โพสต์เมื่อ 17 ส.ค. 2557 อ่าน 17347 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)