ลาศึกษาต่อ และการได้รับเงินเดือน



สวัสดีค่ะเพื่อนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน สถานี ก.ค.ศ.วันนี้ ดิฉันมีเรื่องมาบอกกล่าวให้ท่านได้รับทราบ ซึ่งเป็นกรณีที่พบจากการตรวจสอบการรายงานการดำเนินงานของเขตพื้นที่การศึกษา เกี่ยวกับการพิจารณาอนุมัติให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ลาศึกษาต่อได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนระหว่างลา ซึ่งมีการพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามที่ ก.ค.ศ.กำหนด เพื่อที่จะได้เป็นกรณีตัวอย่างให้ความรู้กัน ดังนี้

ตามที่ ก.ค.ศ.มีมติมอบให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา หรือ อ.ก.ค.ศ.ที่ ก.ค.ศ.ตั้งเป็นผู้พิจารณาการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานวิจัย ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการและมีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนระหว่างลาไปศึกษา ฝึกอบรม หรือปฏิบัติงานวิจัย ตามนัยข้อ 8 ของกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2550 โดยต้องดำเนินการตามแนวทางการพิจารณาอนุมัติตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ.ที่ ศธ 0206.7/ว 8 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2554 และให้รายงาน ก.ค.ศ. เพื่อทราบ

ซึ่งสำนักงาน ก.ค.ศ.ได้ตรวจสอบพบว่ามีกรณีที่พิจารณาอนุมัติไม่เป็นไปตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนฯ เช่น

กรณีที่ 1 นางสาว ก. ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อปริญญาโท มีกำหนด 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2551 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 และได้รายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2553 แต่สำเร็จการศึกษา เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 จากกรณีตัวอย่างจะเห็นได้ว่า นางสาว ก. ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อเป็นเวลา 2 ปี แต่ใช้เวลาในการศึกษาเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต กล่าวคือใช้เวลาในการศึกษา 3 ปี 9 เดือน จึงไม่เป็นไปตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือนฯ ข้อ 8 (1) ที่กำหนดว่าศึกษา ฝึกอบรม หรือวิจัย ภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตและตามระยะเวลาของหลักสูตรที่สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาลาไปศึกษา ฝึกอบรม หรือวิจัย ได้กำหนดไว้โดยไม่มีการขอขยายระยะเวลา

กรณีที่ 2 นางสาว ข. ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อปริญญาเอก มีกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 (ระยะเวลาของหลักสูตรดังกล่าวกำหนดไว้ 3 ปีการศึกษา) นางสาว ข. สำเร็จการศึกษาเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2556 จากกรณีตัวอย่าง นางสาว ข. สำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อ (4 ปี) แต่เกินระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด (3 ปี) จึงไม่เป็นไปตามกฎ ก.ค.ศ.ว่าด้วยการเลื่อนขั้นเงินเดือน ข้อ 8 (1) เช่นเดียวกับกรณีที่ 1

ดังนั้น ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีสิทธิได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนระหว่างลาศึกษาต่อได้

จากกรณีที่นำเสนอในวันนี้ สำนักงาน ก.ค.ศ.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คงได้รับความกระจ่างกันแล้วนะคะ และหากมีการพิจารณากรณีเช่นนี้ จะได้ไม่เกิดความคลาดเคลื่อนค่ะ แล้วพบกันสัปดาห์หน้าค่ะ



ศิริพร กิจเกื้อกูล
เลขาธิการ ก.ค.ศ.


ที่มา : มติชน ฉบับวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

โพสต์เมื่อ 30 มิ.ย. 2557 อ่าน 13300 | 0 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 189]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2700]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1078]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5578]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2418]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)