สพฐ.เล็งแก้เกณฑ์ขออำนาจสั่งย้ายครู - สั่งครูช่วยราชการกลับต้นสังกัด



"อภิชาติ"มึนแก้ปัญหาเกลี่ยครู ครูขาดครูเกินสั่งย้ายไม่ได้ ชี้ครูเป็นข้าราชการประเภทเดียวของเมืองไทยที่สั่งย้ายไม่ได้ถ้าไม่ขอย้าย เตรียมเสนอก.ค.ศ.แก้ไขหลักเกณฑ์ย้ายครู

วันนี้(28ม.ค.) นายอภิชาติ จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า ภายในปี 2560 จะมีครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เกษียณอายุราชการถึง200,000 คน ดังนั้น สพฐ.จะทำการวิเคราะห์ว่าจะมีผลกระทบต่อการบริหารกำลังคน และจะเกิดปัญหาขาดแคลนครูหรือไม่ โดยจะมีการทำสำมะโนนักเรียนและวิเคราะห์เป็นรายโรงว่าเมื่อถึงปี 2560 จะมีจำนวนนักเรียนเท่าไหร่ เพิ่มขึ้นหรือลดลง เพื่อจะได้จัดอัตราครูได้อย่างเหมาะสม ขณะที่ปัจจุบันมักจะพูดกันว่าครูขาด แต่ไม่ได้มีการวิเคราะห์สภาพปัญหา และจำนวนนักเรียนที่แท้จริงเลย เช่น บางโรงเรียนเคยมีนักเรียนเป็นร้อยคน ปัจจุบันเหลือแค่ไม่กี่สิบคน สาเหตุเพราะเด็กย้ายตามผู้ปกครองไปอยู่ในพื้นที่อื่น ส่งผลให้บางโรงมีเด็กเพิ่มขึ้นมาก บางโรงก็มีเด็กลดลง แต่จำนวนครูยังเท่าเดิม เนื่องจากหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)กำหนดว่าครูต้องขอย้ายถ้าไม่ขอหน่วยงานต้นสังกัดก็ไม่สามารถสั่งย้ายได้


"ถือว่าข้าราชการครู เป็นข้าราชการประเภทเดียวในประเทศไทย ที่ต้องขอย้าย ส่วนข้าราชการประเภทอื่นย้ายตามคำสั่งจึงทำให้ สพฐ.เกลี่ยอัตรายากมากซึ่งเรื่องนี้ทางสำนักงบประมาณสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง ก็อยากให้สพฐ.สามารถสั่งย้ายครูได้เหมือนข้าราชการประเภทอื่น แต่ก็เป็นเรื่องยากมาก อย่างไรก็ตาม สพฐ.ก็กำลังจะเสนอต่อก.ค.ศ.เพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์การย้ายครู เพื่อให้เกิดความสะดวกในการบริหารงาน" นายอภิชาติ กล่าวและว่า ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาขาดแคลนครูเป็นเรื่องยาก เพราะนอกจากผู้บังคับบัญชาสั่งย้ายไม่ได้แล้ว ส่วนหนึ่งตัวครูก็ไม่ยอมไปไหนเพราะเด็กน้อยงานก็น้อย หากย้ายไปโรงเรียนใหญ่เงินเดือนและวิทยฐานะก็เท่าเดิม จึงไม่ขอย้าย ซึ่งมีครูคิดแบบนี้อยู่อีกมาก ก็ต้องเป็นเรื่องของจิตสำนึกของแต่ละบุคคล


เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการขอช่วยราชการของครูนั้น ตนมีนโยบายชัดเจนว่าถ้าต้นทางบอกว่าเดือดร้อนเพราะขาดครูอยู่จะไม่อนุญาตให้ไปครูออกไปช่วยราชการ เพราะจะยิ่งทำให้โรงเรียนที่ขาดครูอยู่มีปัญหามากขึ้น เว้นแต่มีเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ เช่น ต้องกลับไปดูแลพ่อแม่ที่ป่วยแต่ก็จะบอกสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปลายทางว่าให้หาอัตรารับย้ายโดยเร็วที่สุด ไม่ใช่ให้อยู่แล้วอยู่เลยและขณะนี้ สพฐ.ได้เรียกบัญชีครูช่วยราชการมาแล้ว ใครก็ตามที่ช่วยราชการเกินกว่า1ปี จะสั่งให้กลับไปเขตพื้นที่ต้นสังกัดให้หมด.

 

 

ที่มา เดลินิวส์ วันอังคาร 28 มกราคม 2557

โพสต์เมื่อ 28 ม.ค. 2557 อ่าน 21926 | 11 ความเห็น

ความคิดเห็นที่ 1 | โดย คุณพันธ์ (โพสต์เมื่อ 28 ม.ค. 2557 เวลา 20:26 น.)
นี่ละระบบบริหารงานบุคคลของ ก.ค.ศ.และ สพฐ.และกระทรวงศึกษา ปัญหาก็ย่อมเป็นปัญหาต่อไป หาใครแก้ไม่ได้
ความคิดเห็นที่ 2 | โดย คุณครูเพชร (โพสต์เมื่อ 28 ม.ค. 2557 เวลา 21:28 น.)
การที่รัฐบาลสั่งย้ายครู จะทำให้ครูที่ถูกสั่งย้าย เกิดสิทธิในการเบิกค่าเช่าบ้าน เเละสิทธิเช่าซื้อบ้าน ถ้าครูย้ายกันมากๆ รัฐอาจต้องเสียค่าเช่าบ้านเป็นหมื่นๆล้าน ถ้าเทียบกับประโยชน์ที่ได้จากการย้ายครูจะคุ้มกันหรือไม่ และครูต้องขับรถในระยะทางไกลๆ ทำให้สิ้นเปลืองค่าน้ำมันของประเทศอีกมหาศาล และอาจมีทุจริต การเรียกรับเงินในการวิ่งเต้นการย้ายอีกมหาศาล และอยู่ดีไปย้ายครูทำให้นักเรียนทีใกล้ชิดครูเหมือนพ่อ แม่ เสียใจอีกด้วย
ความคิดเห็นที่ 3 | โดย คุณจิต (โพสต์เมื่อ 29 ม.ค. 2557 เวลา 07:04 น.)
เห็นด้วย สพฐ สามารถเกลี่ยและย้ายได้ เพราะครูแน่นและเกินใน รร.ตัวจังหวัดซึ่งเกิดจาก อกคศ ให้ย้ายได้(วิ่ง) ทีตอนแรกสอบบรรจุไม่โวยวายว่าไกล ถ้าครูคิดว่ามีอุดมการณ์จริง และ สพฐ คงไม่สั่งย้ายจากภาคกลางลงไป3จ.ภาคใต้
ความคิดเห็นที่ 4 | โดย คุณเชียนนี่ (โพสต์เมื่อ 29 ม.ค. 2557 เวลา 14:53 น.)
ข้าพเจ้าเป็นครูอีกคนหนึ่งที่มาช่วยราชการที่ สพม. 24 ตามโครงการครูคืนถิ่นได้ปีครึ่งแล้ว ถ้าจะให้กลับต้นสังกัด (สพม .22) จริงๆ บอกตามตรงว่าคงขัดขืนหรือยื้อไว้ไม่ได้ก็ต้องกลับ ถามว่าอยากกลับไหม ตอ ไม่อยากกลับเพราะได้ทำงานอยู่ที่บ้านตัวเอง อยู่กับครอบครัวที่มีความสุข กลับไปที่สังกัดเดิมก็อีหรอบเดิมต้องเขียนย้ายทุกครั้ง ต้องเทียวไปเทียวมา เปลือง จิปาถะ อยากจะให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดโอนตำแหน่งให้จังเลย ตอนย้ายมาแรกๆบอกจะตัดโอนให้ก็เงียบไปเลย ถ้าให้กลับจริงๆก็คงเศร้า อยากจะให้ทำแบบสำรวจก่อนว่าครูที่มาช่วยราชการส่วนมากอยากกลับต้นสังกัดไหม เชื่อว่าส่วนมากคงไม่อยากกลับ รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย
ความคิดเห็นที่ 5 | โดย คุณครู (โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2557 เวลา 07:59 น.)
ไม่เห็นด้วยค่ะ ปกติ สพฐ ก้มีการเกลี่ยอัตรากำลังซึ่งทำอยู่ทุกปีในช่วงคืนอัตราเกษียณ หากท่านพบอัตราเกินก็ไม่ต้องคืนอัตราเกษียณให้ เป็นการดีอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องหาเหตุสร้างภาวะบั่นทอนจิตใจให้ครูด้วย การที่ครูที่มีภูมิลำเนาอยู่ใกล้โรงเรียนและพึงพอใจในการทำงาน ณ ที่นั้นๆ ก็เป็นเรื่องดีอยู่แล้ว วิธีแก้มีอีกหลายทาง ควรกลับไปไตร่ตรองใหม่ อีกอย่าง แค่ลำพังเรื่องการโยกย้ายให้ยุติธรรมปราศจากการเรียกเงินและเส้นสาย ยังมิสามารถทำได้ ไยสร้างปัญหาเพิ่มอีก ต่อไปก็จะมีกการเรียกรับใต้โต๊ะวิ่งอยู่ รร ใกล้บ้านทุกสี่ปี ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้
ความคิดเห็นที่ 6 | โดย คุณlpu (โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2557 เวลา 16:19 น.)
ระบบดี คนดี ต้องดีแน่
ระบบดี คนแย่ ต้องแก้ไข
ระบบแย่ คนดี แก้กันไป
ระบบเลว คนไม่เอาไหน บรรลัยเอย
ความคิดเห็นที่ 7 | โดย คุณพระเจ้าตา (โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2557 เวลา 20:11 น.)
เห็นพูดกันมานานแล้ว แต่ไม่มีใครทำได้
ความคิดเห็นที่ 8 | โดย คุณNOAMPHAVANOR (โพสต์เมื่อ 30 ม.ค. 2557 เวลา 20:17 น.)
ทุกความคิดดีๆทั้งนั้น แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ อยากถามว่าที่อยู่ใกล้บ้านแล้วสร้างปัญหาให้แก่โรงเรียนนะ ควรย้ายอย่างเร่งด่วน แต่ไม่ย้ายกลับไปย้ายคนที่ตั้งใจสอนและประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี อย่างโรงเรียนผมครูคนนี้บอกว่ามีเด็กน้อย ๆ ครูสบาย และทำตัวกร่างจนชาวบ้านเอือมระอา แต่ชาวบ้านไม่อยากยุ่งด้วย เพราะเขาไม่อยากส่งลูกหลานไปเรียนที่อื่น มันไกลบ้าน
ความคิดเห็นที่ 9 | โดย คุณมน (โพสต์เมื่อ 31 ม.ค. 2557 เวลา 11:05 น.)
โลกมีสองด้านเสมอ ไม่ว่าจะพยายามวิธีไหน หรือหาอะไรมาแก้ไข ก็มักจะมีปัญหาตามมา ทุกที
ความคิดเห็นที่ 10 | โดย คุณโอม (โพสต์เมื่อ 1 ก.พ. 2557 เวลา 10:40 น.)
1.ก่อนว่าคนอื่นในเรื่อง "จิตสำนึก" ไปส่องกระจกเงาดูตัวเองก่อน
2.กฏระเบียบที่มีมาแต่เดิม เขาต้องการให้ครูอยู่ในท้องที่เดิมให้นานที่สุด จึงมีโครงการย้ายคืนถิ่น เพื่อต้องการให้ครูพัฒนาท้องถิ่นตนเอง แล้วคุณมาจากไหนจะมีรื้อซะทั้งหมด ถึงจะออกกฏมาใหม่ ก็จะใช้บังคับเอากับผู้ที่บรรจุหลังจากกฏเกณฑ์ใหม่บังคับใช้แล้วเท่านั้น ส่วนคนที่บรรจุมาก่อน มันใช้บังคับไม่ได้หรอก เพราะถ้ามันบังคับได้ ก็เท่ากับว่านำกฏหมายที่มีบทลงโทษหนักกว่าไปบังคับย้อนหลัง ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ กฏหมายที่ออกบังคับภายหลังจะใช้ย้อนหลังได้มีกรณีเดียวเท่านั้น คือ "บทบังคับของกฏหมายที่ออกภายหลังนั้นเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด" ถ้าคุณบังคับใช้กฏหมายมั่ว ครูก็ไปฟ้องศาลปกครอง
ความคิดเห็นที่ 11 | โดย คุณอ้อย (โพสต์เมื่อ 16 ก.พ. 2557 เวลา 13:36 น.)
ดิฉันเป็นครูคนหนึ่งที่ขอย้ายตามโครงการครูคืนถิ่น แต่ดิฉันกลับมีคำสั่งให้มาช่วยราชการ งงค่ะ เพราะร.ร.ที่ย้ายมาอยู่เป็นขนาดร.ร.ใหญ่ แต่ร.ร.เล็กๆกลับมีครูที่ได้รับย้ายตามโครงการครูคืนถิ่นเกือบ 10 คน พอถึงเทศกาลเขียนย้ายดิฉันก็เขียนย้ายมาโดยตลอด ผลการย้ายปรากฎว่ามีครูร.ร.อื่นได้ย้ายมาลงร.ร.ที่ดิฉันช่วยราชการอยู่ถึง 2 คน โอ้อะไรกันนี้ระบบราชการของครูเรา ทำไมไม่ดูแลคนที่ช่วยราชการอยู่ก่อน แล้วนี้ยังจะมีนโยบายให้ครูช่วยราชการกลับต้นสังกัดอีก ไม่เห็นใจครูที่เดือดร้อนบ้างเลยหรือคะ สพฐ.คิดอยากจะสั่งให้ไปช่วยราชการก็สั่ง คิดอยากจะสั่งให้กลับก็สั่งตามใจชอบอย่างงั้นหรือคะ ทั้งๆที่ดิฉันก็ไม่ได้ขอมาช่วยราชการแต่ขอย้ายต่างหาก อยากฝากให้รัฐบาลที่มีนโยบายครูคืนถิ่นได้ช่วยดูแลครูกลุ่มเดียวกับดิฉันด้วยค่ะ ตอนนี้รู้สึกเศร้า กังวลใจ ไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงานเลยค่ะ

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)