มวยล้มต้มคนดู...? แกะรอยขบวนการทุจริตสอบ "ครูผู้ช่วย"



 

“ทุจริตสอบครูผู้ช่วย”

เรื่องฉาวโฉ่ซึ่งสร้างรอยด่างให้กับ “แวดวงการศึกษาชาติ” อย่างหนักหนาสาหัสที่เกิดขึ้นหลังเปิดศักราชใหม่ ปี 2556 เพียงไม่กี่วัน

“ทีมข่าวการศึกษา (ไทยรัฐ)” ขอทำหน้าที่ฉายภาพสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมและร่วมกันจับตา การทำหน้าที่ตรวจสอบ รวมถึงการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อกำจัดหนอนบ่อนไส้ให้หมดไปจากวงการศึกษาชาติ

 
วันที่ 13 ม.ค.56 คือวันที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้มีการสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็น หรือมีเหตุพิเศษ ว 12 ในเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ

แต่ก่อนถึงวันสอบเพียงไม่กี่วัน ก็เริ่มมีกระแสเล็ดลอดออกมาถึงความไม่ชอบมาพากลในการสอบครูผู้ช่วยโดยขบวนการที่พยายามกระทำการทุจริตมีเครือข่ายใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นในที่สุดเมื่อเรื่องดังกล่าวเข้าหู นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ ทำให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก และแจ้งให้ ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปตรวจสอบ ด้วยหวังว่าจะ “ตัดไฟแต่ต้นลม”

หากพบความไม่ชอบมาพากล เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบานปลาย

แต่เพียงชั่วข้ามคืน ก็ได้รับการยืนยันอย่างหนักแน่น จากผู้บริหาร สพฐ.ว่าจากการตรวจสอบไม่พบสิ่งผิดปกติ และระบุให้ต้องมีการเดินหน้าสอบครูผู้ช่วยตามกำหนดการเดิม โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงจากนายเสริมศักดิ์ จนสุดท้ายเมื่อการสอบเป็นไปตามกำหนดการเดิม ก็เกิดกรณีการทุจริตขึ้นจริง จนเป็นเรื่องราวฉาวโฉ่ออกสู่สังคมในที่สุด

ทันทีที่ปรากฏมีการจับทุจริตในการสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ขึ้นจริง นายเสริมศักดิ์จึงแต่งตั้งนายพิษณุ ตุลสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตสอบครูผู้ช่วยขึ้น เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบขบวนการทุจริตสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ ทำให้พบเส้นทางของผู้ที่เข้ามาร่วมขบวนการหลายกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มนายทุนใหญ่ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ที่กล้าทุ่มเม็ดเงินก้อนใหญ่ถึง 200 ล้านบาท ให้กับ “นายใหญ่” เพื่อแลกกับข้อสอบทั้งหมด 4 ชุดวิชา วิชาละ 50 ข้อ จำนวน 30 สาขาวิชาเอก พร้อมเฉลยคำตอบ

 
ขณะที่อีกจุดซึ่งน่าสังเกต และถือเป็นข้อพิรุธ คือ การจัดสอบครั้งนี้มีการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติในการสอบ ทำให้เกิดความหละหลวม เพื่อเอื้อต่อการเกิดทุจริตได้ง่าย นับตั้งแต่การตัดการสอบสัมภาษณ์ เหลือเพียงการสอบภาค ก และภาค ข

ทั้งยังพบพิรุธเรื่องขยายวันรับสมัครและการเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าสอบ จากเดิมกำหนดให้กลุ่มพนักงานราชการตำแหน่งครูผู้สอน และพนักงานราชการตำแหน่งครูพี่เลี้ยงสามารถสมัครเข้าสอบได้ แต่ สพฐ.กลับมีการขยายวันรับสมัครจากเดิมวันที่ 6-12 ธ.ค.55 และเปิดรับสมัครรอบที่ 2 อีกครั้งในวันที่ 28-30 ธ.ค.55 ทั้งยังเปิดช่องให้กลุ่มครูอัตราจ้างทั่วไป และอัตราจ้างด้วยงบประมาณ SP2 สามารถเข้ามาสมัครสอบในครั้งนี้ได้ด้วย เพราะหากมีเฉพาะกลุ่มแรก จะมีผู้สมัครไม่มาก เมื่อกลุ่มนายทุนบวกลบคูณหารกับเงินที่ต้องควักลงทุนไปสูงถึง 200 ล้านบาทแล้ว อาจจะยังมีกำไรจากกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อเฉลยคำตอบไม่มากพอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น

และจากข้อมูลของพยานบุคคลปากสำคัญที่ยอมรับสารภาพกับคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงยังชี้ชัด เพราะระบุว่า “จ่ายเงินค่าเฉลยคำตอบ 400,000 บาท หรือบางคนอาจจะถูกนายหน้าบวกเพิ่มมากกว่านั้น ซึ่งคำนวณเป็นตัวเลขกลมๆ หากเครือข่ายของขบวนการนี้ต้องการหาลูกค้าให้ได้ 1,000 คน เมื่อคูณ 400,000 บาท ก็จะเป็นเงินก้อนใหญ่ที่จะเข้ากระเป๋าขบวนการโกงสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ถึง 400 ล้านบาท หักลบกลบหนี้แล้วก็จะมีกำไรสูงถึง 200 ล้านบาท”

ขณะที่ สพฐ.เองก็ยังไม่สามารถตอบคำถามสังคม กรณีที่มีการแยกย่อยข้อสอบเป็นชุดเล็ก จากเดิมจะสอบภาค ก เช้าสอบ 100 ข้อ บ่าย 100 ข้อ แต่การสอบครั้งนี้กลับแยกสอบภาค ก ออกเป็น 4 ชุด ชุดละ 50 ข้อ เช้าสอบ 2 ชุด และบ่ายอีก 2 ชุด เว้นพักระหว่างสอบแต่ละชุด 1 ชั่วโมง ซึ่งประเด็นนี้คณะกรรมการวิเคราะห์ว่า เพื่อให้ผู้เข้าสอบง่ายต่อการจดจำไปสอบ แต่ก็พบว่าผู้เข้าสอบหลายรายจำไม่ได้และเลือกที่จะจดเป็นโพยกระดาษคำตอบ หรือจดใส่ยางลบเข้าห้องสอบไปด้วย และที่กล้าหน่อยก็อาจจะนำเครื่องมือสื่อสารระบบสั่นเข้าห้องสอบไปด้วยจนถูกจับได้ในที่สุด

ที่สำคัญกลุ่มเครือข่ายโกงสอบครูผู้ช่วยนี้ยังมีการบริหารจัด การแบบครบวงจร โดยการจัดสรรให้ผู้ที่จะสมัครสอบไปสมัครสอบข้ามเขต สพท. เพื่อไม่ให้ทับซ้อนเขตพื้นที่เดียวกัน เป็นการการันตีว่าทุกคนที่ยอมจ่ายเงินจะได้รับการบรรจุทุกคน

จากข้อมูลเชิงลึกของคณะกรรมการยังพบกลุ่มเครือข่ายการทุจริตสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ถึง 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นเครือข่าย “นายใหญ่” ซึ่งรับเงินมาจากกลุ่มนายทุนในจังหวัดขอนแก่น 200 ล้านบาท เพื่อให้กำหนดรูปแบบการสอบที่ง่ายและเอื้อต่อการทุจริต มีกลุ่มผู้บริหารโรงเรียน อนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน สพท. และผู้อำนวยการ สพท. บางแห่ง เป็นนายหน้าหาลูกค้าให้ได้ 1,000 คน ซึ่งกลุ่มนายหน้าแต่ละคนสามารถบวกเพิ่มค่าหัวคิวได้เอง จาก 400,000 บาท บางรายอาจราคาสูงขึ้นไปเป็น 650,000-700,000 บาท

 
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มของผู้บริหารระดับสูงบางคนใน สพฐ. ที่ให้นายหน้าซึ่งเป็นลูกน้องเก่าในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา นำเฉลยข้อสอบไปปล่อยให้กับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ และมีกลุ่มลูกค้าบางรายนำเฉลยคำตอบไปขายต่อให้กับผู้ใกล้ชิดอีกทอดหนึ่ง ส่งผลให้เกิดกระแสข่าวของการซื้อขายเฉลยคำตอบกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

และนี่เป็นเพียงข้อมูลบางส่วนที่เป็นข้อพิรุธ ซึ่งก่อให้เกิดความค้างคาใจและคำถามจากสังคมต่อการสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ ที่เปรียบเสมือนวงจรอุบาทว์ซึ่งแทรกตัวเข้ามาสร้างรอยด่างให้วงการแม่พิมพ์ของชาติ

ทีมข่าวการศึกษา(ไทยรัฐ) จึงขอตั้งความหวังและเรียกร้องให้ผู้ที่รับผิดชอบคุมบังเหียนกระทรวงศึกษาธิการเร่งเครื่องสะสางความฉาวโฉ่ที่เกิดขึ้นนี้อย่างจริงจังและจริงใจ

เพราะหากมัวแต่ทำกันแบบลูบหน้าปะจมูก ไม่กล้าที่จะกระชากหน้ากาก “ไอ้โม่ง” หรือ “นายใหญ่” และตัวการที่ร่วมขบวนการมารับโทษ อนาคตประเทศชาตินับวันก็จะถอยหลังและดิ่งลงเหว

หยุด “มวยล้มต้มคนดู” เสียที...!!!

 


ทีมข่าวการศึกษา

 

 

ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 22 มีนาคม 2556

โพสต์เมื่อ 22 มี.ค. 2556 อ่าน 23441 | 9 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 192]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2712]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1082]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5631]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2427]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)