ตะลึงพบเกือบพัน ร่วมทุจริตสอบครู - รมช.เผยจ่อยกเลิก แม้จะบรรจุไปแล้ว



“พงศ์เทพ” ประชุมบอร์ด ก.ค.ศ.นัดพิเศษถกทุจริตสอบบรรจุครูผู้ช่วย 13 มี.ค.นี้ ขณะที่ “เสริมศักดิ์” เชื่อดีเอสไอสรุปผลสอบได้ทันก่อนประชุม  จ่อยกเลิกการสอบหลังประเมินข้อมูลพบคนร่วมทุจริตเกือบ 1,000 คน ชี้ใครไม่ยอมให้ปากคำถือว่าขัดขวางเจ้าพนักงาน ด้านเลขาฯ กพฐ.แฉซํ้าสนามสอบ สพป.ขอนแก่นเขต  3 ไม่ใช่แค่ส่งคนสอบแทน   แต่มีการวางแผนผังที่นั่งสอบ เตรียมส่งข้อมูลให้ดีเอสไอ

ความคืบหน้าคดีทุจริตสอบครูผู้ช่วย เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯและ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นัดพิเศษ ในวันที่ 13 มี.ค. เพื่อพิจารณาผลการสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่ ก.ค.ศ.ตั้งขึ้น กรณีที่พบว่ามีพนักงานราชการ มีชื่อเข้าสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยซ้ำ ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ขอนแก่น เขต 3 และสพป. นครปฐม เขต 1

ส่วนจะมีวาระเรื่องการพิจารณายกเลิกการสอบครูผู้ช่วยหรือไม่นั้น ยังไม่แน่ใจว่าดีเอสไอจะสรุปผลการสอบสวนส่งมาทันหรือไม่ หากทันก็จะนำเข้าบรรจุเป็นวาระในการพิจารณาด้วย สำหรับการสอบคัดเลือกบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยทั่วไป ประจำปี 2556 ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายนยังไม่แน่ใจว่าจะเตรียมการได้ทันหรือไม่ คงต้องมีการพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมก่อนที่จะจัดสอบ

ขณะที่นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ยังรอผลการสอบสวนกรณีปัญหาการทุจริตสอบคัดเลือกครูผู้ช่วยจากดีเอสไอ อยู่ คาดว่าน่าจะได้รับผลทันก่อนการประชุม ก.ค.ศ.นัดพิเศษ หากผลการสอบระบุว่ามีการทุจริต ก็เห็นว่าเป็นเหตุผลที่จะยกเลิกการสอบได้ แม้ว่าจะมีการเรียกบรรจุไปแล้วก็ตาม เพราะตามที่ได้ประเมินจากข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมาเชื่อว่า น่าจะมีผู้ที่เข้าร่วมขบวนการทุจริตนี้ครึ่งหนึ่งคือประมาณเกือบ 1,000 คน จากที่มีการสอบบรรจุประมาณ 2,000 อัตรา อย่างในภาคตะวันออก-เฉียงเหนือที่เป็นภาคใหญ่ พนักงานราชการจะไปสอบภาคอื่นกันหมด

นอกจากนี้จะเสนอให้มีการเลื่อนการสอบครูผู้ช่วยกรณีทั่วไป ที่จะมีขึ้นในเดือน เม.ย.นี้ด้วย เพราะหากผลการสอบยังไม่ชัดเจนว่า การสอบมีจุดบอดตรงไหน หรือจะอุดรูรั่วของการสอบได้อย่างไร ก็ยังไม่ควรมีการจัดสอบ ที่ดีเอสไอระบุว่าจะมีการสอบผู้อำนวยการโรงเรียนที่เกี่ยวข้อง 7 แห่งนั้นยังไม่ทราบข้อมูลว่ามีที่ไหนบ้าง ส่วนที่มีข่าวว่าข้าราชการในเขตพื้นที่ไม่กล้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง การขัดขวางหรือไม่ยอมให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ ถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ เป็นความผิด

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในการสอบครูผู้ช่วย เริ่มจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลที่สนามสอบ สพป.ขอนแก่น เขต 3 พบว่าไม่ใช่แค่การมีคนไปนั่งสอบแทนเท่านั้น แต่มีการวางแผนผังที่นั่งสอบด้วย คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกำลังตรวจสอบในส่วนนี้อยู่ รวมทั้งหาความชัดเจนว่าใครเป็นใคร มีการส่งสัญญาณอะไรในการสอบหรือไม่ ทั้งหมดนี้เหมือนมีการจัดการในห้องสอบ ข้อมูลทั้งหมดจะมีการส่งไปยังดีเอสไอและน่าจะมีการเจาะข้อมูลไปเรื่อยๆ จากการประเมินของ สพฐ.คาดว่ากรณีของผู้ที่เข้าไปสอบแทน อยู่ในหลักสิบคนไม่ใช่หลักร้อย ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเรื่องนี้อาจมีข้าราชการระดับสูงของ สพฐ.เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น ยังมองไม่ชัดเจน การพูดกันลอยๆ เพื่อให้กระทบชิ่งหน่วยงาน จนทำให้เกิดความเสื่อมเสียและขาดความเชื่อมั่นโดยขาดหลักฐานก็ไม่ควรพูด

ต่อข้อถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่า สพฐ.เปลี่ยนวิธีการจัดส่งข้อสอบทางไปรษณีย์ เอื้อให้เกิดการทุจริต เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า เหตุที่เลือกที่จะจัดส่งข้อสอบทางไปรษณีย์ เพราะว่าการสอบก่อนหน้านี้มีปัญหาเรื่องการจัดส่ง และมีความทุลักทุเล เนื่องจากข้อสอบใส่ซองผิด ส่งไปผิดที่ จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่จะมุ่งแก้ปัญหาและคิดว่าการจัดส่งต้องมีหลักประกันที่เชื่อมั่น จึงเป็นที่มาให้ไปรษณีย์จัดส่ง ส่วนการแบ่งข้อสอบออกเป็น 4 วิชา ได้แก่ วิชาความรอบรู้ วิชาความรู้ ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วิชาความถนัดและเจตคติต่อวิชาชีพครู และวิชาความรู้ความเข้าใจและปฏิบัติต่อวิชาชีพครู ส่วนละ 50 ข้อ คะแนนรวม200 ข้อนั้น จะต้องมีการแยกอยู่แล้วเพราะเป็นคนละวิชา การตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งข้อสอบออกเป็น 4 ส่วนและแยกสอบ จะเป็นมูลเหตุให้มีการจำเฉลยได้นั้น คิดว่าคงลำบาก ส่วนเครื่องมือสื่อสารนั้นในคู่มือการสอบระบุชัดเจนว่าห้ามนำเครื่องมือสื่อสาร อาทิโทรศัพท์มือถือเข้าไป กรณีที่มีการปล่อยให้นำเข้าไปถือเป็นความบกพร่องในกระบวนการสอบของผู้ที่คุมสอบ

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจากกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงฯ ที่เดินทางกลับจากการตรวจสอบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า สิ่งที่น่าสังเกตและพบเป็นข้อพิรุธหนึ่งในการตรวจสอบครั้งนี้ก็คือ แม้จะมีการจัดสอบที่เขตพื้นที่การศึกษา แต่กระดาษคำตอบ สพฐ.เป็นคนนำไปตรวจ และเป็นผู้ประกาศผลว่าใครสอบได้หรือไม่ได้ ปกติแล้วการประกาศผลจะต้องมีการแจ้งผลคะแนนกลับไปให้แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา หรือผู้ที่เข้าสอบได้ทราบด้วย แต่ครั้งนี้กลับไม่มีการแจ้งคะแนนของผู้เข้าสอบแต่ละคนให้เขตพื้นที่หรือผู้เข้าสอบได้ทราบ ดังนั้นหากเกิดกรณีที่ผู้เข้าสอบสามารถทำคะแนนได้เท่ากันแล้วใครเป็นคนเลือกว่าใครสมควรที่ต้องสอบได้ ถ้าเป็น สพฐ.เป็นผู้คัดเลือกหรือตัดสินในเรื่องนี้ แล้วเอาหลักเกณฑ์ใดมาตัดสิน จึงอยากให้ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย

 

 

 

ที่มา ไทยรัฐ วันที่ 5 มีนาคม 2556

โพสต์เมื่อ 6 มี.ค. 2556 อ่าน 24014 | 36 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.1) [อ่าน 188]
ก.ค.ศ.เห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินตำแหน่งและวิทยฐานะข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา [อ่าน 2699]
ก.ค.ศ.เห็นชอบปรับปรุงการเข้าสู่ตำแหน่ง สายงานบริหารสถานศึกษาและบริหารการศึกษา ควรต้องผ่านการเป็นรองผู้อำนวยการฯ มาก่อน และควรมีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าชำนาญการพิเศษ [อ่าน 1076]
ผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2567 [อ่าน 5555]
ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 2416]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)