เรื่องเกี่ยวกับการพัสดุ (การสอบราคา)



คอลัมน์: สถานี ก.ค.ศ.: เรื่องเกี่ยวกับการพัสดุ (การสอบราคา)


ประสาน ยินดี
ผู้อำนวยการภารกิจเสริมสร้างและมาตรฐานวินัย

สำนักงาน ก.ค.ศ. ได้รับรายงานการดำเนินการทางวินัยจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาต่างๆ ว่าข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตามเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ ยังขาดองค์ความรู้ในเรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากข้าราชการครูซึ่งมีหน้าที่สอนหนังสือ แต่ในขณะเดียวกัน ภารกิจภายในโรงเรียนมิใช่จะมีเฉพาะการเรียน การสอน เพียงอย่างเดียว หากต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องพัสดุอีกด้วย ดังนั้น เมื่อข้าราชการครูขาดองค์ความรู้ในเรื่องระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 การดำเนินการในเรื่องเกี่ยวกับพัสดุจึงได้กระทำไปโดยไม่ได้เข้าใจในระเบียบ โดยที่ข้าราชการครูดังกล่าวไม่ทราบว่ากระทำไปตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งถูกต้องตามระเบียบพัสดุหรือไม่ ซึ่งหาเป็นความผิดของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยตรงไม่ เพียงแต่ขาดการอบรม โดยไม่ทราบว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 เป็นระเบียบที่มีการกำหนดโทษไว้ ซึ่งต่างจากระเบียบอื่น โดยกำหนดโทษไว้ในข้อ 10 ซึ่งแม้การ กระทำดังกล่าวไม่เป็นเหตุให้ทางราชการเสียหาย ก็ยังให้ลงโทษภาคทัณฑ์หรือว่ากล่าวตักเตือน โดยทำคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไม่ต้องถูกดำเนินการทางวินัยโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ สำนักงาน ก.ค.ศ.ใคร่หยิบยกในเรื่องที่พบบ่อยคือเรื่องการสอบราคา ซึ่งการสอบราคาจะกระทำได้ในการซื้อหรือการจ้างครั้งหนึ่งซึ่งมีราคาเกิน 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท ซึ่งกำหนดอยู่ในข้อ 20 ซึ่งข้าราชการครูบุคคลใดได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสอบราคาจะต้องดำเนินตามระเบียบพัสดุดังนี้

ในเรื่องการประกาศสอบราคา

1.ให้ปิดประกาศการสอบราคาอย่าง 10 วัน (การสอบราคาในประเทศ) และให้เจ้าหน้าที่พัสดุส่งประกาศเผยแพร่การสอบราคาและเอกสารสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพขายหรือรับจ้างทำงานนั้นโดยตรง หรือโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ กับให้ปิดประกาศเผยแพร่การสอบราคาไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของส่วนราชการนั้น

2.ในการยื่นซองสอบราคา ผู้เสนอราคาจะต้องผนึกซองจ่าหน้าถึงประธานคณะกรรมการ เปิดซองสอบราคาการซื้อหรือการจ้างครั้งนั้น และส่งถึงส่วนราชการผู้ดำเนินการสอบราคาก่อนวันเปิดซองสอบราคา โดยยื่นโดยตรงต่อส่วนราชการ หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ในกรณีที่ส่วนราชการกำหนดให้กระทำได้

3.ให้เจ้าหน้าที่ลงรับโดยไม่เปิดซองพร้อมระบุวันและเวลาที่รับซอง ในกรณีที่ผู้เสนอราคามายื่นซองโดยตรงให้ออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นซอง สำหรับกรณีที่เป็นการยื่นซองทางไปรษณีย์ ให้ถือวันและเวลาที่ส่วนราชการนั้นลงรับจากไปรษณีย์เป็นเวลารับซอง และให้ส่งมอบซองให้แก่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุทันที

4.ให้หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุเก็บรักษาซองเสนอราคาทุกรายโดยไม่เปิดซองและเมื่อถึงกำหนดเวลาเปิดซองสอบราคาแล้ว ให้ส่งมอบซองเสนอราคาพร้อมทั้งรายงานผลการรับซองต่อคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาเพื่อดำเนินการต่อไป

ส่วนในเรื่องหน้าที่ของคณะกรรมการสอบราคาจะต้องดำเนินการอย่างไรในวันเปิดซองสอบราคาโปรดติดตามฉบับหน้า

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

โพสต์เมื่อ 18 ก.พ. 2556 อ่าน 14220 | 4 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)