ข้าราชการแห่เออร์ลี่รีไทร์คลังเท 7.5 หมื่นล.ถ่ายเลือด



เผยปีงบประมาณ 2556 มีข้าราชการได้สิทธิ์ยื่น "เออร์ลี่รีไทร์" 27,089 คน กระทรวงศึกษาฯโควตาได้สิทธิ์สูงสุด ด้านกรมบัญชีกลางแจงปี 2555 ใช้งบฯสำหรับ ขรก.เกษียณอายุและเออร์ลี่รีไทร์รวมกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ลุ้นปีนี้ตัวเลขเออร์ลี่รีไทร์ลดลง หลังมีการปรับฐานเงินเดือน ขรก.ใหม่

นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากการตรวจสอบจำนวนข้าราชการที่เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) ประจำปีงบประมาณ 2556 (ออกจากราชการ 1 ตุลาคม 2555) ผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 27,089 คน โดยเป็นส่วนของกระทรวงศึกษาธิการสูงสุด 12,801 คน รองลงมาคือ กระทรวงกลาโหม 4,784 คน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 3,282 คน, กระทรวงสาธารณสุข 1,789 คน, มหาวิทยาลัย 918 คน

สำหรับในปีงบประมาณ 2555 มีข้าราชการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ 33,751 คน แต่มีผู้เข้าร่วมจำนวน 21,461 คน โดยกระทรวงศึกษาธิการ มีข้าราชการเข้าร่วมโครงการสูงสุด 9,118 คน

โดยส่วนราชการที่มีผู้เข้าร่วมโครงการในปีงบประมาณ 2555 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 8,805 คน และกองทัพบก 5,367 คน ขณะที่จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการประจำปีงบประมาณ 2556 ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน เนื่องจากต้องรอข้อมูลถึงสิ้นเดือน ก.ย. 2555

นายนนทิกรกล่าวว่า ข้าราชการเข้าร่วมโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดในปี 2556 อาจสูงกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เพราะปีนี้ถือว่าเป็นปีสุดท้ายของโครงการที่ ครม.เมื่อปี 2550 ได้อนุมัติมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ จึงทำให้ข้าราชการที่มีคุณสมบัติตามข้อกำหนดตัดสินใจเข้าร่วมโครงการมากขึ้น

"จริง ๆ แล้วเรื่องมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ เราตั้งใจทำอยู่ 2 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกัน คือการปรับโครงสร้างอายุราชการทั้งระบบ เพราะปัจจุบันหน่วยราชการต่าง ๆ มีข้าราชการสูงอายุอยู่เป็นจำนวนมาก เรามีความตั้งใจที่จะถ่ายเลือดเก่าออก และเอาข้าราชการเลือดใหม่เข้ามาทดแทน" นายนนทิกรกล่าว

โดยจำนวนข้าราชการใหม่ทั้งระบบที่จะเข้ามาทำงานประจำปี 2556 มีประมาณ 40,000 กว่าคน ซึ่งถือเป็นอัตรากำลังทดแทนในสัดส่วนที่พอดีกัน

นายนนทิกรกล่าวว่า จากผลวิจัยที่ผ่านมาพบว่าข้าราชการที่เข้าโครงการเออร์ลี่รีไทร์ต้องการไปประกอบอาชีพอื่น และบางส่วนก็ต้องการนำเงินก้อนไปชำระหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับกลางถึงล่าง หรือบางกลุ่มก็ต้องการเงินไปรักษาตัวเองในกรณีเจ็บป่วย เนื่องจากเงินที่ได้จากโครงการเออร์ลี่รีไทร์จะอยู่ที่ประมาณ 8-15 เท่าของเงินเดือน บวกกับบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการจึงมีเงินขวัญถุงก้อนใหญ่เพื่อไปประกอบอาชีพใหม่ได้

ผลศึกษาในปี 2554 พบว่า ผู้เข้าร่วมโครงการเออร์ลี่รีไทร์ในปี 2552-54 มีอายุเฉลี่ย 55-56 ปีตามลำดับ แต่เนื่องจากในปี 2555-56 ได้ปรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ โดยกำหนดว่าต้องมีเวลาราชการเหลือตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป ทำให้อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมโครงการน่าจะลดลง

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลางเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ในปีงบประมาณ 2556 จะมีข้าราชการเกษียณอายุราชการ 17,068 ราย และผู้ที่มีสิทธิ์ยื่นเออร์ลี่รีไทร์ 27,233 ราย อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังมีผู้ยื่นขอเกษียณก่อนกำหนดเพียงแค่ 12,796 ราย ซึ่งตัวเลขยังไม่สมบูรณ์จึงยังไม่สามารถประเมินเม็ดเงินได้ ต้องรอให้ทุกส่วนราชการรายงานสรุปเข้ามาอีกครั้งในช่วงใกล้ สิ้นเดือน ก.ย. จึงจะทำให้ทราบถึงเม็ดเงินที่จะใช้ในการจ่ายบำเหน็จบำนาญทั้งหมด

อย่างไรก็ดีหากดูจากปีที่ผ่านมา ข้าราชการเกษียณอายุตามปกติ 12,193 ราย ลูกจ้างประจำ 6,127 ราย และ ผู้ใช้สิทธิ์โครงการเกษียนอายุก่อนกำหนด 21,461 คน ซึ่งพบว่ามีรายงานการใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 75,469 ล้านบาท แต่ในปีนี้คาดว่าน่าจะใช้เม็ดเงินน้อยกว่า เพราะจากจำนวนผู้ยื่นขอเกษียนอายุก่อนกำหนดขณะนี้มีอยู่เพียง 12,796 คน

"ตอนนี้ยังคำนวณเงินที่จะต้องใช้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะว่าต้องดูจากอายุราชการของแต่ละคนด้วย แล้วบางคนที่มีสิทธิ์เออร์ลี่รีไทร์ แต่บางส่วนราชการก็อาจจะไม่อนุมัติ เพราะไม่ต้องการเสียอัตรากำลังอย่าง กรณีทหาร เป็นต้น" แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีข้าราชการสังกัด สพฐ.ยื่นขอเออร์ลี่รีไทร์ประมาณ 9 พันคน ลดลงจากปีที่แล้วที่ยื่นขอมาประมาณ 1 หมื่นคน กระนั้นยังอยู่ระหว่างการยื่นถอนชื่อ ซึ่งจะเสร็จสิ้นกระบวนการในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยข้าราชการส่วนใหญ่ที่ขอเออร์ลี่รีไทร์เป็นครูประจำโรงเรียนและ เจ้าหน้าที่ของส่วนกลาง

"คนขอเออร์ลี่รีไทร์ลดลงเป็นเพราะเงินเดือนครูขยายเพดานและมีการปรับฐานเงินเดือนใหม่ ซึ่งตามปกติแล้วครูต้องทำผลงานวิชาการจึงจะสามารถขยับเงินเดือนขึ้นได้ แต่บางรายพบว่าเงินเดือนแตะระดับสูงสุดของแท่งแล้วจะมีเงินเดือนคงที่ ไม่ได้รับการปรับเพิ่ม แต่ตอนนี้มีการปรับให้คนที่เงินเดือนติดอยู่แท่งเดิมสามารถกระโดดไปรับเงินเดือนของแท่งใหม่ได้ในระดับเดียวกัน แต่วิทยฐานะยังคงเหมือนเดิม"

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 - 9 ก.ย. 2555

โพสต์เมื่อ 5 ก.ย. 2555 อ่าน 22672 | 2 ความเห็น

·····

เรื่องอื่นๆ


จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 แผนงานบุคลากรภาครัฐ งบบุคลากร และงบดำเนินงาน เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างพนักงานราชการ (ครั้งที่ 1) [อ่าน 1413]
ด่วนที่สุด ที่ ศธ 04009/ว 6450 การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นค่าตอบแทนการจ้างอัตราจ้างครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน ครั้งที่ 1 [อ่าน 879]
แนวทางการดำเนินการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ [อ่าน 1244]
สพฐ.ข้อมูลเพื่อการบริหารงานบุคคลตำแหน่ง ผอ. สพท. [อ่าน 1493]
ซักซ้อมการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพฐ. [อ่าน 3711]

·····

จัดทำเว็บไซต์โดย นายอดิศร ก้อนคำ (ครูโจ้)